หม้อผสมปูนเป็นภาชนะดินเผาขนาดเล็ก ใช้สำหรับการผสมปูนในการกินหมาก โดยในหม้อผสมปูนจะใส่ขมิ้นเอาไว้ แล้วจึงนำปูนขาวที่ได้จากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนเป็นเถ้า แล้วนำมาบดเป็นผงกวนกับน้ำจนได้เป็นปูนขาว มาผสมกับขมิ้นที่อยู่ภายในหม้อ กรดในปูนจะทำปฏิกิริยากับขมิ้นจนกลายเป็นสีแดงหรือที่เรียกกันว่าปูนแดง ทั้งนี้เพื่อให้ปูนลดความเป็นกรดลง
ในการกินหมากจะมีเครื่องกินหมากทั้งหมด 4 อย่าง คือ ผลหมาก ใบพลู ปูนแดง และยาเส้น บางครั้งอาจมีการใส่เครื่องหอมหรือเปลือกไม้อื่นเพิ่มเติม เช่น กานพลู การบูร พิมเสน เปลือกตะเคียน เปลือกสีเสียด
หมากที่คนไทยนิยมกันมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิดคือ หมากดิบ คือหมากที่ยังไม่แก่ หมากส่ง คือหมากที่แก่จัด หมากอีแปะ คือหมากที่นำเนื้อในผลมาผ่าเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วตากแห้งไว้ และหมากยับ คือหมากแก่จัดที่เก็บไว้ทั้งเปลือก ไว้กินยามที่หาหมากยาก ส่วนใบพลูที่นิยมนำมาบริโภคมี 2 ชนิด คือ พลูค้างทองหลางและพลูจีนหรือพลูค้างใบ ส่วนยาเส้น มี 2 ชนิดคือ ยาจีนหรือยาฝอยกับยาฉุน โดยหลังเคี้ยวหมากจะนำมาปั้นเป็นก้อน ใช้เช็ดหรือสีฟัน
การกินหมากหรือการเคี้ยวหมากมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้เคี้ยวหมากมีความรู้สึกว่าทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า บรรเทาความเครียด อันเนื่องมาจากสารแอลคาลอยด์ที่มีอยู่ในผลหมาก
การกินหมากพลู เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของคนในแถบภูมิภาคเอเชียโดยมีหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ระบุถึงคำว่า หมากพลู มาตั้งแต่ 39 ปีก่อนพุทธศักราช จากการขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า มีพืชตระกูลหมากที่ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ราว 10,440 – 8,350 ปีมาแล้ว และมีการพบภาชนะประเภทเต้าปูนและกระโถน ณ แหล่งโบราณคดีบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ จึงสันนิษฐานได้ว่า มีการกินหมากพลูในดินแดนประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยลพบุรี หรือพุทธศตวรรษที่ 16 – 20 และต่อมาได้ทวีความสำคัญขึ้นจนเป็นเครื่องแสดงถึงยศศักดิ์ในสังคมไทย มีการพระราชทานเครื่องยศประเภทเครื่องอุปโภคเพื่อแสดงถึงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบที่ประกอบด้วยเครื่องใช้สำหรับกินหมากด้วย เช่น เจียด พานหมาก โต๊ะ ถาดหมาก กระโถน
ปัจจุบัน วัฒนธรรมการกินหมากได้เสื่อมถอยลงเนื่องจากในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายปฏิวัติให้ประเทศไทยเป็นอารยะและเป็นที่ยอมรับของชาวโลก รัฐบาลจึงสั่งให้ประชาชนเลิกกินหมาก แต่การเคี้ยวหมากยังคงเป็นทิ่นิยมในต่างประเทศบางประเทศเช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไต้หวัน และประเทศเมียนมาร์