ไต้ หรือ ขี้ไต้ เป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มีลักษณะเป็นแท่งกลมยาวมัดด้วยเชือกเป็นเปลาะ ๆ ด้านท้ายทำเป็นด้ามสำหรับถือ มีหลายขนาด ส่วนประกอบหลักมีสามส่วนคือ เชื้อไต้ น้ำมัน และเปลือกหุ้มไต้ ไต้ของแต่ละท้องถิ่นจะใช้วัตถุดิบในการทำเชื้อไต้และเปลือกหุ้มไต้แตกต่างกัน ขึ้นกับว่าท้องถิ่นนั้น ๆ มีวัตถุดิบอะไร เช่น ชุมชนวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำเชื้อไต้จากเปลือกต้นเสม็ดผสมน้ำมันยางห่อด้วยกาบหมากหรือใบเตย ขณะที่บ้านละไม เกาะสมุย มีต้นมะพร้าวมาก จะใช้ขุยมะพร้าวคลุกน้ำมันยางเป็นเชื้อไต้และใช้กาบหมากเป็นเปลือกหุ้ม ไต้เหล่านี้ติดไฟได้ดี แต่เมื่อจุดไปสักพัก ขี้เถ้าแดง ๆ ซึ่งติดอยู่ที่ปลายไต้จะบดบังเปลวไฟ ต้องใช้ไม้เขี่ยออกเพื่อให้ไต้ส่องสว่างอีกครั้ง
จากคำบอกเล่าของคนวัดเวียงไชยากล่าวว่า ไต้หรือขี้ไต้ที่ใช้ในละแวกนี้ ทำจากเปลือกเสม็ด ซึ่งเป็นต้นไม้ที่หาง่าย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตน้ำกร่อยตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส นิยมใช้เปลือกของต้นเสม็ดขาวมากกว่าเสม็ดแดง เพราะหลุดร่อนง่ายกว่า เปลือกเสม็ดที่นำมาใช้จะต้องตากให้แห้ง นำไปคลุกกับน้ำมันยางที่ได้จากการเจาะต้นยางนาให้เป็นโพรงด้วยขวานแล้วใช้ไฟสุม รุ่งเช้า น้ำยางของต้นยางก็จะไหลออกมา นำเปลือกเสม็ดคลุกกับน้ำมันยาง ทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อให้น้ำมันซึมเข้าเนื้อ แล้วจึงห่อด้วยกาบหมากตากแห้งหรือใบเตย (หนาม) หรือเตยนาลิดหนามออก นำไปลนไฟแล้วตัดตามขนาดที่ต้องการ มัดด้วยเชือกเป็นเปลาะ ๆ ไต้ที่ดีต้องมีน้ำหนัก เพราะมีน้ำมันยางผสมอยู่มาก ถ้าเบาแสดงว่ามีเปลือกเสม็ดมาก ติดไฟได้ไม่ดีนัก
ในอดีต คนทั่วไปนิยมทำไต้ไว้ใช้เอง ทั้งเป็นเชื้อในการก่อไฟ ให้แสงสว่างในยามค่ำคืนเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ ออกไปหากบหาปลาในท้องนา ฯลฯ โดยมากนิยมใช้ไต้ที่มีขนาดใหญ่ในเวลาเดินทางเพราะจุดได้นาน
ไต้ยังถูกนำไปใช้ในพิธีเผาศพ เนื่องจากชาวบ้านแถบวัดเวียงไชยานิยมนำไม้ฟืนไปช่วยงานศพ การเผาศพในอดีตเป็นการเผาจริง เจ้าภาพจะเตรียมจุดไต้เอาไว้สำหรับให้แขกที่มาร่วมงานใช้จุดไม้ฟืนที่นำมาจากบ้าน ก่อนจะนำไปวางใต้โลงศพหรือเชิงตะกอน การนำไม้ฟืนไปช่วยงานศพเป็นการลดภาระของเจ้าภาพในการหาเชื้อเพลิง แต่ภายหลังเมื่อมีการเผาศพในเมรุมากขึ้น ไต้ในฐานะเชื้อเพลิงสำหรับงานเผาศพก็ลดบทบาทลง
นอกจากนี้ ในงานบุญเดือนสิบของคนใต้ จะมีการจัดหฺมฺรับ (หมะ-รับ) ซึ่งประกอบด้วยข้าวปลา อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ เครื่องครัว ยารักษาโรค น้ำมันก๊าด เทียนไข ไม้ขีดไฟ ใส่ภาชนะนำไปถวายพระเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เชื่อว่าจะได้นำไปใช้ในภพภูมิต่อไป และจะมีการใส่ไต้ลงในหฺมฺรับเพื่อเป็นเชื้อเพลิงไปใช้ในภพหน้าอีกด้วย
แม้ว่าไต้จะเป็นของราคาถูก หาง่าย นิยมใช้กันทุกบ้าน แต่เมื่อมีไฟฟ้าที่สะดวกสบายกว่า การใช้ไต้เพื่อให้แสงสว่างจึงลดน้อยลงจนแทบจะไม่มีให้เห็น นอกจากในงานย้อนยุคต่าง ๆ ที่มีการจุดไต้เพื่อให้แสงสว่าง แต่ก็เป็นการนำมาใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อสร้างบรรยากาศเท่านั้น