เรือมาดเป็นเรือขุดขนาดใหญ่ มักขุดจากไม้สักทองหรือไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื้อไม้มีลักษณะสวนกันไปมาทำให้มีความเหนียวแน่น ลอยน้ำได้ดี แข็งแกร่ง เหมาะสำหรับการทำเรือเพราะไม่ผุง่ายแม้จะแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ
ลักษณะเด่นของเรือมาดคือ เป็นเรือลำใหญ่ ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ท้องเรือกลม หัวท้ายแบน ท้องกว้างกว่าเรือพายม้า เบิกปากเรือแต่ไม่เสริมกราบ เรือมาดขนาดใหญ่ใช้บรรทุกข้าวเปลือกหรือส้มสุกลูกไม้ออกจากสวนไปขายที่ตลาด เรือลำใหญ่ต้องใช้แจวหลาย ๆ แจว เรือมาดขนาดกลางใช้แจวสองแจวหรือใช้ถ่อ แต่ถ้าเป็นเรือมาดขนาดเล็กจะใช้พาย
ลา ลูแบร์ บันทึกเรื่องการต่อเรือของชาวสยามไว้ว่า “ชาวสยามมีต้นไม้ที่สูงและลำต้นตรงท่อนเดียวก็อาจทำใช้เรือหรือบาล็อง (Balon) ดังที่ชาวปอรตุเกศเรียกได้ ยาวตั้งแต่ 16 ถึง 20 วา เขาใช้วิธีขุดลงในท่อนซุงนั้น และใช้ความร้อนค่อยเบิกปากเรือให้ผายออก แล้วเลื่อยไม้อย่างยาวเท่ากันมาเสริมเป็นกราบเอาไม้ต่อโขนหัวเรือและท้ายเรือ โขนหัวเรือนั้นสูงเชิด ส่วนทางท้ายนั้นค่อนข้างยื่นออกไปทางเบื้องหลัง”
สิ่งที่ลาลูแบร์บันทึกเอาไว้คือวิธีการสร้างเรือขุด เช่น เรือมาด เรือชะล่า เรือพายม้า เป็นต้น การถากซุงทั้งต้นให้เป็นลำเรือ เป็นวิธีที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีต เริ่มจากการคัดเลือกไม้ที่มีความสูง ลำต้นตรง และมีเส้นรอบวงที่เหมาะกับการขุดเรือ ช่างจะพิจารณาดูว่าด้านไหนควรจะเป็นหัวและท้ายเรือ แล้วจึงนำไม้ที่จะขุดเรือวางบนหมอน ยึดด้วยลิ่มให้แน่น หาจุดศูนย์กลาง กำหนดความกว้างยาวของปากเรือ จากนั้นจึงถากไม้ให้มีรูปร่างเป็นโครงเรืออย่างคร่าว ๆ เรียกว่า “โกลนเรือ”
จากนั้น ใช้เลื่อยเปิดปากเรือและพลิกแต่งหางเรือทั้งซ้ายและขวาให้เป็นรูปร่างเรืออย่างหยาบ ๆ เรียกว่า “มาด” เสร็จแล้วคว่ำเรือลง ใช้ผึ่งหรือขวานถากตามความยาวของเส้นมาด หงายเรือขึ้นอีกครั้ง ใช้ผึ่งขุดเซาะเนื้อไม้ด้านในให้เป็นร่องจากหัวท้ายไปถึงกลางลำเรือ โดยเว้นส่วนหัวและท้ายไว้ประมาณด้านละสองศอก หรือราว 60 เซนติเมตร ใส่แกลบลงไปในร่องแล้วสุมไฟเพื่อให้ตัวเรือร้อนแล้วเบิกปากเรือออก หรือคว่ำเรือเพื่อ “ย่างเรือ” เพื่อไล่ความชื้นและทำให้ไม้อ่อนตัว ในการสุมไฟแต่ละครั้ง ช่างขุดเรือจะต้องกะปริมาณแกลบให้เหมาะสม และต้องระมัดระวังไม่ให้ไฟคุลามกินเนื้อไม้ส่วนที่จะเป็นผนังเรือ เมื่อแกลบไหม้ไฟหมดแล้ว ช่างจะใช้น้ำดับไฟแล้วใช้ขวานถากเนื้อไม้ที่ไหม้ไฟออก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ท้องเรือที่ลึกตามต้องการ ขั้นตอนนี้เรียกว่า “เบิกไฟ”
จากนั้นช่างจะทำการ “เบิกเรือ” โดยพลิกเรือและใช้กงดีดจับกราบเรือทั้งสองด้านถ่างออกพร้อม ๆ กัน ใช้ไม้ค้ำยันภายในลำเรือเพื่อให้กราบเรือที่ถูกความร้อนจนอ่อนตัวขยายออกเป็นรูปร่างเรือตามที่ต้องการ หลังจากนั้น ช่างจะทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้อยู่ตัว แล้วจึงนำไม้ค้ำยันออก การเบิกเรือสามารถทำได้หลายครั้งเพื่อให้ได้ความกว้างตามลักษณะของเรือแต่ละประเภท
การขุดเรือ เป็นศิลปวิทยาที่ช่างต้องฝึกฝนจนมีความชำนาญ เพราะเรือลำหนึ่ง ๆ ใช้เวลาในการขุดค่อนข้างนาน และเมื่อทำสำเร็จแล้วต้องทดสอบอีกหลายครั้งว่าจะสามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ช่างขุดเรือจะต้องเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น
เรือเป็นพาหนะสำคัญของชาวคลองลัดมะยม การเลือกใช้เรือแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงานและพื้นที่ เช่น ถ้าบรรทุกก็ต้องใช้เรือใหญ่ อย่างเรือมาด เรือชะล่า แต่ถ้าบรรทุกของเล็กน้อยและพายสัญจรไปมา ก็ใช้เรืออีแปะ เรือสำปั้น เรือบด
ภูมิปัญญาการทำเรือขุดถือเป็นนวัตกรรมอันเนื่องมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากความรอบรู้ ประสบการณ์ แนวคิดที่สังคมหรือชุมชนได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา และเป็นพาหนะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานในการขับเคลื่อนจากแรงงานคนโดยการใช้พาย ใช้แจว จนกระทั่งเริ่มมีความนิยมใช้เรือต่อ เรือที่ติดเครื่องยนต์ การใช้เรือขุดจากต้นไม้ จึงค่อย ๆ เลิกไป ลุงชวนเล่าว่า เมื่อมีการใช้เรือต่อมากขึ้น ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้เรือต่อแทนเรือขุด เพราะสะดวกกว่า เบากว่า สมัยนั้นย่านคลองมหาสวัสดิ์จะมีอู่ต่อเรือหลายแห่ง มีการใช้เครื่องยนต์เพื่อทุ่นแรง
ตลาดน้ำคลองลัดมะยมก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2547 ลุงชวน ชูจันทร์ ประธานกรรมการตลาดน้ำคลองลัดมะยม พยายามรื้อฟื้นวิถีชีวิตชาวสวนผ่านการตั้งตลาดน้ำ เน้นจำหน่ายผลผลิตจากมือชาวสวนสู่ผู้บริโภคโดยตรง พร้อมย้อนยุคสู่บรรยากาศบ้านสวนริมคลองให้นักท่องเที่ยวสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีการนำเรือมาดประทุนมาบริการนักท่องเที่ยวที่เข้าชมธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวสวน เรือมาดเหล่านี้มีประทุนสานด้วยไม้ไผ่เพื่อบังแดด เป็นเรือมาดประทุนขนาดเล็กของนายสมศักดิ์ แก้วคำ ใช้รับส่งนักท่องเที่ยวเป็นประจำ และในย่านชุมชนคลองลัดมะยมยังมีช่างต่อเรือที่ยังมีชีวิตอยู่คือ นายผิว จันทร์เจริญ แต่ก็มีอายุมากจนไม่สามารถต่อเรือได้แล้ว
แม้ว่าวันเวลาจะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนคลองลัดมะยม ทำให้ถนนและรถยนต์เข้ามามีบทบาทแทนที่เรือและลำคลอง แต่คลองลัดมะยมก็ยังคงมีเรือสัญจรให้เห็นเหมือนในอดีต ทั้งเรืออีแปะติดเครื่องยนต์สำหรับเข้าสวน นำของมาขาย หรือเป็นเรือรับจ้าง เรือมาดประทุนสำหรับนักท่องเที่ยว ถึงแม้จะไม่คึกคักเหมือนในอดีต แต่ก็ช่วยต่อลมหายใจให้กับวิถีชาวสวนได้อย่างมีชีวิตชีวา