แม่น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิตและวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะชุมชนริมน้ำที่อาศัยแม่น้ำเป็นแหล่งหาอาหาร ใช้ในกิจวัตรประจำวัน ใช้ทำการเกษตร และเป็นเส้นทางคมนาคม โดยมี “เรือ” เป็นพาหนะสำคัญ
เมืองบางปะกงซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ในอดีตเป็นชุมชนประมงที่สำคัญ เนื่องจากแม่น้ำบางปะกงและป่าชายเลนทั้งสองฝั่งมีสัตว์น้ำ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุม เป็นแหล่งทำประมงของชาวบ้านซึ่งใช้เครื่องมือนานาชนิดจับสัตว์น้ำ ทั้งเพื่อกินและเพื่อขาย เครื่องมือที่ใช้มีทั้ง ลอบ โพงพาง กร่ำ โป๊ะน้ำตื้น เรือแจว ฯลฯ และเครื่องมือชนิดพิเศษอย่าง “เรือผีหลอก” ซึ่งเป็นเครื่องมือหาปลาที่พบในลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำอ้อม แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำบางปะกง และทางภาคใต้แถบจังหวัดระนอง
เรือผีหลอกที่พบในปัจจุบันมีทั้งเรือขุดและเรือต่อ ท้องเรือค่อนข้างแบน เมื่อลอยอยู่ในน้ำ กราบเรือจะสูงจากระดับน้ำไม่มากนัก เช่น เรือของลุงเปา ประสิทธิรัตน์ มีขนาดกว้างหนึ่งเมตร ยาวเจ็ดเมตร ลำเรือต่อด้วยไม้สัก ทาน้ำมันยางเพื่อรักษาเนื้อไม้ ด้านข้างแขวนแผ่นกระดานทาสีน้ำมันสีขาวทั้งด้านบนและด้านล่าง อีกด้านปักเสาไม้ไผ่ขึงตาข่ายไนล่อนหรืออวนกันปลา สูงประมาณหนึ่งเมตรตลอดลำเรือ ท้ายเรือด้านขวามีหลักแจวทำด้วยไม้สัก สูงประมาณหนึ่งเมตร มี “เต่าแจว” หรือช่องสำหรับเสียบหลักแจวทั้งสองข้างให้เลือกใช้ตามความถนัดและเหมาะสมกับสภาพท้องน้ำ มี “แจว” หนึ่งเล่ม ทำจากไม้สัก ยาวประมาณสามเมตร ทวนหัวเรือทำด้วยแผ่นไม้หน้าประมาณสามนิ้ว
การต่อเรือเริ่มจากการวาง “กระดูกงู” หลังจากนั้นจึงวาง “กง” และประกอบแผ่นไม้ “เปลือกเรือ” ให้สูงขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร ติดกระทงเรือและปูไม้กระดานปิดบริเวณหัวและท้าย ส่วนท้องเรือเว้นไว้เพื่อให้ปลากระโดดเข้ามาได้ และดูแลรักษาโดยทาน้ำมันรักษาเนื้อไม้อย่างดี
เรือผีหลอกเป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยความเข้าใจพฤติกรรมตามธรรมชาติของปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามพงหญ้าริมน้ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่นอนที่ปลอดภัยแล้ว ยังมีแมลงที่ออกหากินกลางคืนให้จับกินอีกด้วย เมื่อชาวประมงสังเกตพบว่าบริเวณไหนมีปลาชุกชุมก็จะจดไว้ พอถึงเวลากลางคืนก็จุดตะเกียงหรือใช้ไฟฉายสองดวงแขวนไว้ที่หัวและท้ายเรือ จากนั้นก็พายเรือผีหลอกไปยังพงหญ้าที่หมายตาไว้ ให้ไม้กระดานที่ทาสีขาวเอียงแช่น้ำประมาณ 30 องศา เมื่อกระดานเฉียดเข้าไปใกล้พงหญ้าหรือกิ่งไม้ที่จมน้ำอยู่ ปลาที่ชอบนอนในน้ำตื้น เช่น ปลากะสูบ ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากะมัง ฯลฯ ได้ยินเสียงแจวและเห็นแสงไฟส่องกระทบแผ่นไม้กระดานสีขาวสว่างโพลงก็ตกใจ กระโดดเข้ามาในเรือ บางตัวที่กระโดดข้ามเรือไปได้ก็จะชนตาข่ายตกลงในเรือเช่นกัน บางครั้งปลาที่ออกหากินกลางคืนก็ตามมากินแมลงที่มาเล่นไฟจากตะเกียงหรือไฟฉายและเผลอกระโดดเข้ามาในเรือด้วยก็มี เรือผีหลอกจึงเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ใช้จับปลาได้อย่างชาญฉลาด
ปกติเรือผีหลอกจะใช้หาปลาในเวลากลางคืนเดือนมืด แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้หาปลาในเวลากลางวันด้วย โดยใช้ทางมะพร้าวผูกติดกับเรือแล้วลากระไปตามผิวน้ำริมตลิ่งเพื่อให้ปลาตกใจกระโดดหนีไปในทิศทางที่วางตาข่ายดักไว้และตกลงในท้องเรือ นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลงติดเครื่องเรือเพื่อให้ออกหาปลาได้ไกลขึ้น เมื่อถึงที่หมายก็จะดับเครื่องแล้วแจวเรือไปเงียบ ๆ การออกหาปลาแต่ละครั้งจะได้ปลาหลายกิโลกรัม นำมากินหรือนำไปขายที่ตลาดเพื่อหารายได้ต่อไป
เรือผีหลอกเป็นทั้งเครื่องมือหาปลาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของชาวประมงจึงจะหาปลาได้สำเร็จและปลอดภัย เพราะต้องทำงานเงียบ ๆ ในความมืด เรืออื่นมองไม่เห็น จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ เรือของลุงเปาก็เคยถูกเรือหางยาวชนจนทวนหัวเรือหักมาแล้ว ตัวแกเองตกลงไปในน้ำและเกือบถูกใบจักรเรือหางยาวบาด ลุงเปาเล่าว่าก่อนที่จะโผล่ขึ้นมาจากน้ำ เห็นใบจักรเรือหมุนอยู่เหนือศีรษะห่างไปนิดเดียวเท่านั้น อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ลุงเปาต้องซ่อมเรือใหม่ เสียเงินไปหลายร้อยบาทกว่าจะได้เรือผีหลอกที่เป็นเครื่องมือหากินชิ้นสำคัญกลับมา ลุงเปาใช้เรือลำนี้หาปลาเป็นอาชีพ ส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือจนประสบความสำเร็จเป็นหมอและข้าราชการหลายคน สำหรับลุงเปา เรือผีหลอกลำนี้จึงเป็นทั้งความทรงจำและความภาคภูมิใจในฐานะหัวหน้าครอบครัว
ช่วงปลายพุทธศตวรรษ 2490 เป็นต้นมา มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำบางปะกง เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล การใช้พื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสภาพแวดล้อมและวิถีการหาอยู่หากินของคนในพื้นที่ ชาวประมงได้รับผลกระทบจากย่านอยู่อาศัยที่ขยายตัวและโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสิ่งปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ลดจำนวนลง นอกจากนี้ วิถีการหาและจับสัตว์น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการทำอุตสาหกรรมการประมง การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ทำให้มีชาวประมงที่หาปลาด้วยเรือผีหลอกลดน้อยลง เรือผีหลอกอย่างเช่นเรือของลุงเปาก็เลยถูกย้ายขึ้นจากแม่น้ำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์เรือไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชมและเรียนรู้ มิได้ใช้จับปลาอีกต่อไป