อุปกรณ์ตีหม้อเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะอื่น ๆ โดยไม่ใช้แป้นหมุน ประกอบไปด้วย หินดุ เป็นอุปกรณ์ในการขึ้นรูปภาชนะ ทำจากดินเผามีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ด มีด้ามถือ มีความแข็งแกร่งทนทาน ผิวด้านหน้าของหัวหินดุจะมีลักษณะเรียบ ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้ก้อนหินจริงมาทำเป็นหินดุ ใช้สำหรับกระทุ้ง ดุนหรือดันหรือรองรับการตีจากด้านนอก เพื่อให้ได้รูปทรงและความหนาของภาชนะตามที่ต้องการ ในบริเวณภาคเหนือจะเรียกหินดุว่า หินเทาะหม้อ ส่วนในภาคใต้จะเรียกว่า ลูกถือ หรือลูกตุ้ง ส่วนภาคกลางและภาคอีสานเรียกหินดุเหมือนกัน
ไม้ตี ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะเป็นแผ่นราบมีหลายขนาดด้วยกัน มีด้ามจับ ใช้สำหรับตีตบผิวด้านนอกของภาชนะให้ได้รูปทรงและอัดเนื้อดินให้แน่นและเข้าสนิทตามที่ต้องการโดยใช้ร่วมกับหินดุ ไม้ตีมีทั้งที่เป็นแบบแผ่นเรียบหรือมีลวดลายแกะอยู่บนแผ่นไม้ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากต้องการได้ภาชนะที่มีผิวเรียบก็จะใช้ไม้ตีแบบแผ่นเรียบตี หรือหากต้องการให้มีลวดลายบนภาชนะ ก็จะใช้ไม้ตีที่มีลายซึ่งเรียกว่าไม้ตีลายตีไปที่ผิวภาชนะทำให้ปรากฏลวดลายขึ้น ไม้ตีบางแผ่นจะมีการคว้านเนื้อไม้ให้เป็นร่องโค้งตลอดแผ่นเพื่อใช้สำหรับตีบริเวณก้นหม้อเพื่อให้มีความโค้งที่พอเหมาะ สม่ำเสมอกันทุกด้าน ไม้ตีมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น ไม้กระต่าม กระต่าม ไม้ลาย ไม้ลาดลาย ไม้พิมพ์ ไม้ตามและไม้หละ
ลูกกลิ้งสักลาย ทำจากไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนกลม ยาวประมาณ 2 – 3 นิ้ว เจาะรูบริเวณแกนกลางของท่อนไม้เพื่อใช้ไม้สอดเข้าไปเป็นแกนให้กลิ้งได้ ใช้สำหรับสร้างลวดลายบนผิวภาชนะเช่นเดียวกับไม้ตีลาย แต่การใช้ลูกกลิ้งจะทำให้ได้ลายที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอกว่า หรือใช้กลิ้งเพื่อสร้างลวดลายบริเวณปากหม้อ
การขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะโดยการตีด้วยไม้นั้นเป็นกรรมวิธีการผลิตภาชนะแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพชนกลุ่มไทยโคราช ซึ่งมีการอพยพย้ายถิ่นไปในหลายพื้นในภาคอีสาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับท้องถิ่นอื่น ๆ จึงปรากฏรูปแบบการขึ้นรูปหม้อโดยการตีด้วยไม้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น
ปัจจุบัน การขึ้นรูปหม้อหรือภาชนะโดยการตีด้วยไม้ในหลายพื้นที่นั้นมีการพัฒนาจากการทำเพื่อสร้างอุปกรณ์ใช้สอยในครัวเรือนมาเป็นกิจกรรมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมและสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกด้วย