“ผ้าทอเมืองสุรินทร์” นับเป็นงานหัตถกรรมที่งดงามและสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน การทอผ้ามีอยู่ทั้งในวัฒนธรรมไทยและเขมรนับเนื่องกว่าศตวรรษ เสื้อผ้าไม่ใช่เพียงเครื่องนุ่งห่ม แต่แสดงสถานภาพทางสังคม ด้วยลวดลาย วัสดุที่ใช้ในการถักทอ
ผ้าไหมทอมือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหลายแห่งในสุรินทร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ในหลายขั้นตอนของการผลิตนั้นเกิดในครัวเรือน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผ้าทอ จึงเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมของการผลิตในครัวเรือนกับการแบ่งงานกันทำ บางครัวเรือนเน้นการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม และผลิตเป็นเส้นไหม อีกครอบครัวจะซื้อเส้นไหมดังกล่าวมามัดย้อมหรือที่เรียกว่า “มัดหมี่” จากนั้น จะขายไหมที่พร้อมสำหรับการทอให้กับอีกครอบครัวหนึ่ง
เส้นไหมหลากสีสัน เกิดจากการนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด หากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น นำไป “โอบหมี่” คือการใช้เชือกฟางเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งตามต้องการ
ลายผ้าอาจแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น “ท้องถิ่น” “ประเพณี” “สมัยใหม่” “เขมร” “ไทย” “เขมรสุรินทร์” “ประยุกต์” ฯลฯ แต่ใช่ว่าจะแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน เพราะการออกแบบนั้นเกิดขึ้นได้อยู่เสมอขึ้นอยู่กับผู้ทอ แต่รูปแบบสำคัญของผ้าไหมสุรินทร์นั่นคือ “มัดหมีี่” นั่นคือเทคนิคการมัดย้อมเส้นไหมก่อนการทอและกลายเป็นลวดลายที่งดงาม ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าไหมทอมือ
ผ้าไหมทอมือในสุรินทร์มีเอกลักษณ์คือสีแดงที่มาจากครั่ง ในภาษาเขมรเรียกว่า “เลียก” ครั่งเป็นแมลงประเภทหนึ่งที่ขับสารมีลักษณะเป็นเหมือนยางหรือชันออกมาไว้ป้องกันตัวเองจากศัตรู สารนี้เรียกว่า "ครั่งดิบ" มีสีแดงม่วง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองแก่ หรือยางสีส้ม
ความเชื่อและข้อห้ามจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องกับครั่งและกระบวนการย้อมสี ในภาษาเขมร “เลียก” หมายถึง “หลบซ่อน” ในช่วงพิธีขึ้นบ้านใหม่ ชุมชนเชื้อสายเขมรสุรินทร์ใช้ครั่งเป็นส่วนประกอบพิธี เพื่อป้องกันบ้านจากภยันตราย ครั่งชิ้นเล็ก ๆ จะเก็บไว้ในตู้หรือลิ้นชัก ด้วยความเชื่อที่ว่าครั่งจะบังตาไม่ให้ขโมยเห็นสิ่งของมีค่าที่เก็บไว้ในเรือน
ช่างทอหยุดการเตรียมสีทันที เมื่อมีผู้หญิงเดินเข้ามาใกล้บริเวณที่ย้อมผ้า เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ผู้หญิงที่เดินเข้ามาตั้งท้องหรือมีประจำเดือนหรืือไม่ ซึ่งเป็นข้อห้าม เพราะอาจจะทำให้สีที่ได้ไม่ติดเส้นไหมที่ย้อม บางคนย้อมผ้าในช่วงเวลากลางคืนหรือกลางป่า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใครมารบกวนในระหว่างการย้อมสี
ปัจจุบัน มีการใช้ “ด่างฟอกไหมขาว” เพื่อฟอกสีเหลืองตามธรรมชาติของเส้นไหมดิบ และผสมสารส้มในสีย้อมสำหรับให้สีติดทนนาน เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งที่เป็นธรรมชาติและสารสังเคราะห์
“โฮล” ได้รับการกล่าวขานโดยคนท้องถิ่นว่าเป็น “ราชินีผ้าไหมสุรินทร์” ชื่อของลายมาจากคำภาษาเขมรว่า “โฮร” ที่หมายถึง ไหล เพราะลายผ้าเสมือนสายน้ำที่ไหล เดิมทีผู้หญิงจะใส่ซิ่นโฮลแต่ในปัจจุบันทั้งชายและหญิงประยุกต์ผ้าโฮลเป็นเครื่องแต่งกายในวาระสำคัญ เช่น งานแต่งงาน เทศกาล ตามลวดลายดั้งเดิมนั้น โฮลประกอบด้วยสี 3 สีที่ย้อมจากวัสดุธรรมชาติ แดงจากครั่ง เหลืองจากเขและขนุน และน้ำเงินจากคราม
“อัมปรม” เป็นลวดลายที่เกิดจากการมัดย้อมทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง เทคนิคการมัดย้อมแบบนี้เดิมทีพบในจีน อินเดีย ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย แต่กลายเป็นเทคนิคการทอในสุรินทร์ไม่น้อยกว่า 2,000 ปี
“อันลูยฃีม” หากแปลเป็นไทยคือ “คลานมาสยาม” นงเยาว์ ทรงวิชา กล่าวถึงชื่อเรียกของลวดลายที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบระหว่างราชสำนักสยามกับเขมร และเมื่อคนเชื้อสายเขมรได้รับอนุญาตให้ตั้งรกรากในสุรินทร์ จึงแสดงความภักดีด้วยการสร้างสรรค์ลวดลายและสอนลูกหลานให้รู้จักความหมาย