กะต่า



คำอธิบาย

ภาชนะจักสานไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายตะกร้าหรือครุ มีขนาดและประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ กัน เช่น กะต่ามีหูใช้หาบหรือหิ้วเรียก กระต่างวง หรือ กะต่าฮวง กะต่ามีหูเป็นเชือกสำหรับสะพายเรียก กะต่าพาย หรือ กะตาสาย หากสานโปร่งสำหรับใส่ของใหญ่ ๆ หรือใส่ไว้ในเกวียนเรียก กะต่าตาแหก ใช้ใส่ฝ้ายหรือหลอดไหมเรียก กะต่าหลอด ใส่หมากพลูเรียก กะต่าหมาก หรือ คุหมาก หรือบางครั้งยาด้วยชันผสมน้ำมันยางหรือยาด้วยขี้ซี่ (ยางไม้จากต้นจิกบดเป็นผงผสมกับน้ำมันยาง) ทำเป็นครุตักน้ำหรือใช้ตาข่ายปิดปาก ใช้ใส่ปลา กบ เขียด เช่นเดียวกับตะข้อง เรียก ข้องคุ

กะต่าคุ กะต่ามีหูหรือกะต่าฮวง สานด้วยดอก ปากกลม กลางป่องเล็กน้อย ก้นสอบเป็นสี่เหลี่ยม ใช้ไม้ไผ่สอดเป็นขาเตี้ย ๆ สี่มุม มีหูทำด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยขี้ซี่หรือชัน ใช้ตักหรือหาบน้ำ

กะต่าตาแหก กะต่าสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นตาโปร่ง ๆ ใช้ใส่สิ่งของที่มีขนาดใหญ่

กะต่าหมาก กะต่ามีหูหิ้วสำหรับใส่หมากพลูเหมือนเชี่ยนหมาก สานด้วยไม้ไผ่ ขนาดเล็กมักยาด้วยชัน เรียกคุหมาก

กะต่าหลอด กะต่ามีหูหิ้วสานด้วยไม้ไผ่ ใช้ใส่หลอดด้ายสำหรับทอผ้า มักแขวนไว้เหนือหูกทอผ้า

กะต่าฮวง กะต่ามีหูหิ้วสำหรับใส่สิ่งต่าง ๆ หากสานทึบยาด้วยชันใช้ใส่น้ำเช่นเดียวกับคุ ถ้าใช้ตาข่ายปิดปากใช้ขังปลา กบ เขียด เรียกข้องคุ

กะต่าบอง ตะกร้าสำหรับใส่ปลา สานด้วยตอกทึบทั้งใบ ปากกลม กลางป่องเล็กน้อย ก้นสอบ ปากสานด้วยตอกและมีงาสำหรับใส่ปลาและจับปลาออก ด้านข้างใช้ไม้กระบอกทำเป็นทุ่นทั้งสองข้าง กะต่าบองจึงลอยน้ำได้เช่นเดียวกับข้องลอยแต่มีลักษณะคล้ายตะกร้า

กะต่าหาบเข้ากะ กระบุงสำหรับใส่ข้าวเปลือก รูปร่างเหมือนกระบุงภาคกลางทั่วไปแต่กลางป่องกว่า มีหูสำหรับร้อยเชือกคล้องหัวคาน ใช้หาบเป็นคู่

กะต่าหู สำหรับใส่ของ สานด้วยตอก รูปร่างคล้ายกระบุงเล็ก ๆ ปากกลม ใช้ตอกบิดเป็นเกลียวเป็นขอบ ถัดจากปากผายออกแล้วสอบลงเป็นก้นสี่เหลี่ยม ด้านข้างทำเป็นหูจากก้นขึ้นมาตรงปากสองข้างสำหรับร้อยเชือกเป็นหูหิ้ว