อาคารสำหรับเก็บข้าวเปลือกและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ส่วนมากสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฝาทึบ มีประตูทางเข้าด้านหนึ่ง ยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำ ความชื้น สัตว์ และแมลงที่อาจทำความเสียหายให้กับเมล็ดพืชพันธุ์ ยุ้งมีหลังคาคลุมมิดชิด กันแดดกันฝน มีโครงสร้างที่แข็งแรง พื้นต้องแข็งแรงมั่นคง รับน้ำหนักได้มา ยุ้งมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น
อีสานเรียกเล้าข้าว ส่วนภาคเหนือเรียกหลองข้าว เป็นอาคารที่ทำด้วยไม้จริงทั้งหมด ยกพื้นสูง มีหลังคาจั่ว มุงสังกะสีหรือวัสดุอื่น ขนาดไม่ใหญ่เหมือนยุ้งหรือฉาง มักมีขนาด 1-4 ห้อง เสาและคร่าวอยู่นอกฝาเพื่อให้รับน้ำหนักและแรงดันของข้าวเปลือกจากภายในได้ดี ฝาเล้าข้าวทำด้วยแผ่นไม้ตีในแนวตั้งเพื่อกันน้ำฝนไหลเข้าไปข้างใน หากเป็นฝาขัดแตะต้องยาด้วยขี้วัวขี้ควายผสมโคลน พื้นต้องใช้ไม้เล็ก ๆ ตีทับร่องกระดานเพื่อกันไม่ให้ข้าวไหลออกไป ประตูทางเข้าใช้ไม้กระดานเรียงซ้อนกันตามแนวนอนขึ้นไปทีละแผ่น ๆ เพื่อให้เปิดได้สะดวกตามปริมาณข้าวเปลือก ไม่นิยมทำบันไดแต่จะใช้ไม้พาดขึ้นลง
ยุ้งบางท้องถิ่นอาจทำด้วยไม้จริงผสมไม้ไผ่ เช่น โครงสร้างเป็นไม้จริง ฝาเป็นไม้ไผ่สาน ยาด้วยมูลโคผสมดิน ยุ้งมักสร้างแยกออกจากตัวเรือนที่อยู่อาศัย แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน