กระติบ



คำอธิบาย

กระติบเป็นภาชนะสาน สามารถทำได้จากวัสดุหลายอย่าง เช่น ใบจาก ใบลาน ใบตาล แต่ปกตินิยมสานด้วยไม้ไผ่ สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งและสิ่งของต่าง ๆ ทรงกระบอก มีฝา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามการใช้สอย เช่น ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เรียกว่า กระติบเข้า ใช้ใส่หมากพลู เรียกว่า กระติบหมาก ใช้ใส่อุปกรณ์ทอผ้าจำพวกหลอดด้าย หลอดไหม ฝ้าย เรียกว่า กระติบหลอด กระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวนิยมใช้ตอกไม้ไผ่สานเป็นขนาดต่าง ๆ กัน ซ้อนสองชั้นเพื่อเก็บความร้อนได้ดี ทำให้   ข้าวเหนียวนิ่มและอุ่นอยู่นาน ไม่แฉะ เนื่องจากไอน้ำจากข้าวเหนียวนึ่งระเหยออกไปตามลายสานอย่างช้า ๆ ไม่รวมตัวกันเป็นหยดน้ำซึ่งจะทำให้ข้าวเหนียวแฉะ มีฝากระติบสวมครอบตัวกระติบ ก้นทำเป็นฐานโค้งกลม รอบตัวกระติบด้วยก้านตาลหรือไม้ไผ่ เพื่อให้กระติบตั้งได้มั่นคง มักมีเชือกร้อยตัวกระติบสำหรับใช้หิ้ว สะพาย หรือแขวน นิยมใช้กันในกลุ่มชนที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นหลักโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งการใช้งานจะแตกต่างไปจากก่องข้าวคือการใช้กระติบจะใช้สำหรับการกินข้าวในบ้านเนื่องจากกระติบไม่มีฐานสูงเช่นเดียวกับก่องข้าว จึงไม่สามารถตั้งในบริเวณนาที่มีน้ำได้ ปัจจุบันนอกจากการใช้กระติบภายในครัวเรือนแล้วยังมีการผลิตกระติบขึ้นเพื่อเป็นสินค้าสำหรับใช้สอย ใช้เป็นของตกแต่งหรือใช้เป็นของที่ระลึกสำหรับคนต่างถิ่นอีกด้วย ซึ่งกระติบที่ผลิตขึ้นในลักษณะนี้จะมีการสานลวดลายกระติบอย่างสวยงาม แปลกใหม่ เพื่อเหมาะกับการใช้เป็นของที่ระลึก
         

กระติบยังใช้สำหรับประกอบการแสดงพื้นบ้านที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อเซิ้งกระติบ หรือ เซิ้งกระติบข้าว การเซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้นการเซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ จะไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น ในราว พ.ศ. 2507 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงมีพระประสงค์การแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้ายูเลียนา และเจ้าหญิงเบียทริกซ์ (พระยศในขณะนั้น) แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเพลงเซิ้งอีสานคือ จังหวะลำเซิ้งมาใช้ โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ยังไม่ได้ห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า เซิ้งอีสาน ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า เซิ้งกระติบข้าว