กระเชอ



คำอธิบาย

ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ปากกว้าง ก้นสอบมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนฐานใช้ก้านตาลเพื่อเสริมความแข็งแรง ใช้หวายหรือเชือกเป็นวัสดุในการยึด ใช้สำหรับใส่ข้าวสาร ข้าวเปลือก หรือใส่ของในพิธีกรรมต่าง ๆ มีหลากหลายขนาด กระเชอใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ โบราณใช้ตวงเท่ากับ 5 ทะนาน 5 กระเชอ เป็น 1 สัด ขนาดของกระเชออาจแตกต่างกันตามใช้สอย เช่น กระเชอขนาดใหญ่หรือเชอบายของภาคใต้

บ้างมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากประมาณ 30 เซนติเมตร สูงประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกระจาด บ้างมีลักษณะคล้ายกระบุงทรงสูง ก้นสอบ ปากผาย

กระเชอก้นรั่ว ยังเป็นสำนวน สุภาษิตไทย หมายถึงสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ ไม่ประหยัด ที่มาของสำนวนนี้มาจากนิทานโบราณ ในนนทุกปกรณัม

เรื่องมีว่ามีพรานไปซุ่มช้อนปลากับภรรยา ภรรยานั้นเป็นกาลกิณีกระเดียดกระเชอก้นรั่วตามสามี สามีช้อนได้ปลามาใส่กระเชอ ภรรยาก็ไม่พิจารณา ปลาก็ลอดลงน้ำไป สามีไม่รู้ช้อนได้หลงใส่กระเชอไปเรื่อย ๆ ปลาก็ลอดไปหมดไม่เหลือ ระหว่างนั้นมีภรรยานายสำเภา เป็นหญิงดีมีสิรินั่งอยู่ท้ายเรือ เห็นปลาลอดลงน้ำก็ยิ้ม นายสำเภาเป็นกาลกิณี เห็นนางดูนายพรานแล้วยิ้มเข้าใจว่านางพอใจ พรานก็โกรธ จะให้นางไปเป็นเมียพราน ในที่สุดนายสำเภากับนายพรานก็ตกลงแลกเมียกัน เมียนายพรานมาอยู่กับนายสำเภา ทำให้พรานเจริญขึ้นเป็นเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดิน แล้วต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาแผ่นดิน นั่นคือใครที่ทำอะไรเผลอเรอเลินเล่อทำอะไรไม่รอบคอบก็พูดกันว่า “เผลอเรอกระเชอก้นรั่ว”