พระบฏ ตุงค่าว
“พระบฏ” คืองานจิตรกรรมทางพุทธศาสนาที่วาดลงบนผืนผ้า เป็นภาพพระพุทธเจ้า พุทธประวัติ หรือชาดกก็ได้ คำว่า “บฏ” เปลี่ยนรูปมาจากภาษาบาลีว่า “ปฏ” (ปะ-ตะ) แปลว่า ผืนผ้า “ตุงค่าว” หรือ “ตุงค่าวธรรม” ก็เป็นพระบฏอย่างหนึ่ง นิยมเขียนเรื่องมหาชาติหรือเวสสันดรชาดก เพื่อใช้ประกอบพิธีตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติของชาวล้านนาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม
ประเพณีตั้งธรรมหลวง
ตั้งธรรมหลวงเป็นประเพณีการฟังเทศนาธรรมครั้งใหญ่ของชาวล้านนา “ธัมม์” หรือ “คัมภีร์” ที่ใช้เทศน์มักเป็นเรื่องขนาดยาว ที่นิยมมากคือเรื่อง “เวสสันดรชาดก” นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบทั้ง 13 กัณฑ์ภายในวันเดียว จะได้ไปเกิดในโลกพระศรีอาริย์ ความเชื่อนี้มาจากคัมภีร์มาลัยสูตร ที่กล่าวถึงพระมาลัยเถรเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบกับเทวบุตรผู้ที่จะจุติลงมาประสูติเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย ท่านได้บอกกับพระมาลัยเถรว่า คนทั้งหลายที่ได้ฟังธรรมเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในวันเดียว เมื่อตายไปแล้วจะได้ไปเกิดในศาสนาของเรา เมื่อพระมาลัยเถรกลับจากสวรรค์ลงมายังมนุษย์โลก ได้นำเรื่องนี้มาบอกกับมนุษย์ เมื่อคนทั้งหลายรู้ดังนั้น จึงพากันมาฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมา
ภายในงานตั้งธรรมหลวงมักประดับประดาตกแต่งสถานที่ให้คล้ายกับฉากในมหาชาติ ซึ่งเป็นป่าเสียส่วนใหญ่ โดยจะนำต้นไม้กิ่งไม้มาประดับทั้งภายในและภายนอกวิหาร และนำเอาพระบฏที่เขียนเรื่องมหาชาติมาแขวนประดับไว้ในงานให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาได้ชื่นชม และเป็นสัญญาณว่างานตั้งธรรมหลวงได้เริ่มขึ้นแล้ว
พระบฏมหาชาติ วัดปงสนุก
พระบฏของวัดปงสนุก อ.เมือง จ.ลำปาง มีสองชุด มีทั้งที่เขียนบนแผ่นผ้าและเขียนบนกระดาษสา เป็นภาพมหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ และภาพพระมาลัย อ.อนุกูล ศิริพันธุ์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก สันนิษฐานว่าพระบฏทั้งสองชุดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดปงสนุก ช่วง พ.ศ. 2389-2454 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะเมืองนครลำปาง (เจ้าคณะจังหวัด) รูปแรกของนครลำปาง ภูมิลำเนาของท่านคือชุมชนบ้านปงสนุกแห่งนี้
ตัวพระบฏมหาชาติวัดปงสนุกแต่ละผืนจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ด้านบน เป็นภาพวาดเหตุการณ์และเขียนชื่อกัณฑ์ด้วยอักษรธรรมล้านนากำกับไว้ ส่วนด้านล่างวาดเป็นเส้นแฉกตามแนวยาวของผ้าลักษณะคล้ายหางตุง บางครั้งจึงเรีกพระบฏแบบนี้ว่า “ตุงพระบฏ”
คืนพิธีกรรมด้วยพระบฏ
พระบฏมหาชาติวัดปงสนุกได้เลือนหายไปจากความทรงจำช่วงหนึ่ง พร้อม ๆ กับประเพณีตั้งธรรมหลวงของคนในชุมชนบ้านปงสนุก เมื่อไม่มีพิธีกรรม จึงไม่มีการใช้งานพระบฏไปโดยปริยาย พระบฏถูกเก็บรักษาไว้และอยู่นอกเหนือการรับรู้ของคนในชุมชน จึงไม่มีการผลิตซ้ำเพิ่มเติมหรือสร้างใหม่ทดแทนพระบฏเดิมที่ชำรุดเสียหาย
ต่อมา มีการค้นพบพระบฏมหาชาติทั้งสองชุดโดยบังเอิญในหอไตรของวัดระหว่างการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ จึงมีการศึกษาที่มาที่ไปของพระบฏ พบว่ามีความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตเป็นอย่างมาก และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทางชุมชนจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำพระบฏกลับมามาใช้ใหม่ โดยรื้อฟื้นประเพณีตั้งธรรมหลวงขึ้นใหม่เพื่อให้พระบฏถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง นอกจากจะเป็นการฟื้นคืนคุณค่าให้กับพระบฏและประเพณีตั้งธรรมหลวงแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้เกิดความตะหนักถึงคุณค่าความสำคัญและสืบทอดประเพณีตั้งธรรมหลวงและพระบฏต่อไป เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการดึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานวัฒนธรรม โดยใช้ประเพณีและวัตถุทางศาสนามาน้อมนำ
พระบฏ รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป
ของที่เก่าเก็บมักผุพังไปตามกาลเวลาฉันใด ภาพพระบฏมหาชาติวัดปงสนุกก็เช่นกัน ถึงแม้จะชำรุดเสียหายไม่มาก แต่การนำพระบฏที่มีอายุมากกว่า 100 ปี กลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครวาดขึ้นมาทดแทนใหม่ได้หรือไม่ อาจไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงนัก ชุมชนจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะอนุรักษ์และจัดเก็บพระบฏชุดเก่าไว้ให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและประชาชนรุ่นหลัง ในขณะเดียวกันก็มีการผลิตพระบฏชุดใหม่ขึ้นโดยใช้วิธีการถ่ายภาพพระบฏชุดเดิมแล้วพิมพ์ลงบนไวนิล เพื่อนำมาใช้ในพิธีตั้งธรรมหลวง และนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก เพื่อให้ผู้สนใจมีโอกาสศึกษาเรียนรู้
พระบฏมหาชาติในรูปลักษณ์ใหม่จึงเกิดขึ้นและถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีตั้งธรรมหลวง ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงเนื้อหาและหน้าที่การใช้งานแบบเดิมเอาไว้ พระบฏในรูปลักษณ์ใหม่นี้ ใช้เทคโนโลยีและวัสดุใหม่ ทำให้นอกจากจะมีภาพและสีสันคล้ายกับพระบฏเดิมแล้ว ยังทนทานและใช้ทุนต่ำในการสร้างอีกด้วย
เมื่อพระบฏไม่ได้ทำจากผ้า แล้วเรายังเรียกพระบฏได้อีกหรือไม่ จริง ๆ แล้วมีของหลายอย่างที่แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปแต่ถ้ายังมีการใช้งานแบบเดิมอยู่ก็ยังคงเรียกชื่อแบบเดิมได้ เช่น คำว่า “หลังคา” ในอดีต หลังคาบ้านเรือนทำจากหญ้าคาจริง ๆ จึงเรียกว่า “หลังคา” แต่ปัจจุบันหลังคาส่วนใหญ่ทำจากกระเบื้องหรือวัสดุอื่น ๆ นอกเหนือไปจากหญ้าคา แต่เราก็ยังเรียกว่าหลังคา นั่นเป็นเพราะการใช้งานของหลังคายังเหมือนเดิม คือใช้มุงปิดส่วนบนของบ้านเรือน กันแดดกันฝน พระบฏก็เช่นกัน ถึงแม้ทุกวันนี้ พระบฏอาจไม่ได้เป็นการวาดภาพลงบนผืนผ้าเช่นเดิม แต่หน้าที่ใช้สอยของพระบฏยังคงเหมือนเดิม คือเป็นเครื่องประดับประดาในงานประเพณีตั้งธรรมหลวง และบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพวาดถึงการทำทานอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า