ก่องเข้า



คำอธิบาย

ก่องเข้าเป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ มีรูปทรงแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น แต่โดยส่วนใหญ่จะมีรูปทรงคล้ายโถ มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ฐานหรือเชิงหรือตีน ทำด้วยแผ่นไม้เบญจพรรณไขว้กันเป็นรูปกากบาทผูกติดกับก้นเพื่อใช้เป็นฐานเพื่อให้ก่องเข้าตั้งได้ ตัวก่อง มักสานซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อกรองไอจากข้าวเหนียวให้ระเหยออกอย่างช้า ๆ เพื่อเก็บความร้อนข้าวของเหนียวโดยตัวก่องชั้นนอกจะสานเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม ฝา มีรูปร่างคล้ายฝาชี ใช้ก้านตาลทำเป็นขอบ มึหูสำหรับร้อยเชือกขึ้นมาจากก้นไว้แขวนหรือสะพายบ่าติดตัว ก่องเข้ามักจะใช้สำหรับพกติดตัวเวลาเดินทางออกไปนอกบ้าน เนื่องจากก่องเข้ามีฐานที่สูงเพื่อตั้งไว้ในนาที่มีน้ำเพื่อป้องกันมดขึ้นข้าวและกับข้าว

ก่องเข้านิยมใช้กันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีชื่อเรียกต่างกันตามการใช้สอย เช่น ใช้ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เรียกว่า ก่องเข้าหรือก่องเข้า ถ้าเป็นก่องเข้าขนาดใหญ่ เรียกว่า ก่องเข้าโป้ ก่องเข้าสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งในพิธีเอาข้าวปลือกขึ้นยุ้ง เรียกว่า ก่องเข้าขวัญ

ก่องเข้ามีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในด้านสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากในอดีต การจักสานก่องเข้าเป็นการผลิตขึ้นเพื่อใช้สอยในครัวเรือน จึงมีคุณค่าในด้านประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก การประดิษฐ์ก่องเข้ามีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีพื้นบ้านรวมทั้งทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น นำไปสู่การประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งของสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้ที่ผ่านการเรียนรู้และสั่งสมในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นตนเองสู่การสร้างสรรค์สิ่งของเครื่องใช้ที่มีคุณค่าและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากคุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอยแล้ว ก่องเข้ายังมีคุณค่าในด้านการสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในอดีต ชาวบ้านจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันหลังจากเสร็จสิ้นกิจวัตรประจำวันเช่นการทำไร่ไถนา หลังจากการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวแล้ว ชาวบ้านทั้งคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กๆ จะออกมารวมตัวกันที่ลานกลางหมู่บ้าน ก่อกองไฟล้อมวงพูดคุยกัน เรียนรู้การจักสานก่องเข้าร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเรียกกิจกรรมนี้ว่า การลงข่วงของชุมชน (การลงข่วง คือ การรวมตัวทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน) ก่องเข้ายังมีความสำคัญในด้านของความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและศาสนา เช่น ในงานบุญกฐินที่จัดขึ้นทุกปี ในงานบุญนี้ชาวบ้านจะนำก่องเข้าไปรวมกันที่วัดเพื่อถวายแก่วัด เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของชาวบ้านและวัดผ่านงานบุญประเพณีทื่สืบทอดกันมา โดยในปัจจุบันการนำก่องเข้าไปรวมกันที่วัดยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาเช่นเดิม แต่ก่องเข้าที่นำไปรวมกันนั้น ชาวบ้านจะคัดเลือกก่องเข้าที่มีความสวยงามแปลกใหม่ เช่น ก่องเข้ารูปทรงหัวใจ หรือในพิธีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยตามความเชื่อโบราณของชุมชน ชาวบ้านจะนำเครื่องคายที่สำคัญประกอบด้วย ขันธ์ 5 ไข่ต้ม ข้าวเหนียว กล้วยน้ำว้า ข้าวต้มมัด ฝ้ายผูกแขนและของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย ใส่รวมกันในก่องเข้าเพื่อทำพิธีกรรมการรักษาตามความเชื่อ และในพิธีสู่ขวัญช้าว ในพิธีกรรมนี้ ชาวบ้านจะนำใบคูณ ใบยอ ใบยาสูบ หมาก ไข่ ข้าวต้ม มัน น้ำ เผือกและขันธ์ 5 ดอกไม้ ธูปเทียน ใส่รวมกันในก่องเข้าเพื่อทำพิธีสู่ขวัญข้าวตามความเชื่อและเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ช่วยปกปักรักษาข้าวของตนเองให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพียงพอในการบริโภคตลอดปี ซึ่งความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงสืบทอดมาแต่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามยุคสมัย คือ ชาวบ้านจะไม่นำเครื่องคายใส่รวมกันในก่องเข้าเช่นเดิม แต่จะนำก่องเข้าใส่ข้าวเหนียวแล้วนำไปวางคู่กับขันที่ใส่เครื่องคายเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่อไป

ในปัจจุบัน ก่องเข้าได้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมโดยการให้คุณค่าและความหมายผ่านผู้บริโภค 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภคที่รับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะนิยมซื้อก่องเข้ารูปทรงกลมแบบดั้งเดิม ขนาดพอเหมาะแก่การใช้ประโยชน์ และผู้บริโภคที่เป็นคนในเมืองหรือคนต่างถิ่น จะนิยมซื้อก่องเข้าที่มีรูปทรงแปลกใหม่ สวยงาม และมีขนาดเล็ก เช่น ก่องเข้ารูปทรงหัวใจเพื่อนำไปเป็นของฝากหรือของที่ระลึกแก่เพื่อนหรือคนรู้จัก