คำอธิบาย
กังหัน เป็นของเล่นพื้นบ้านที่เรียกตามวัสดุที่นำมาทำกังหัน เช่น กังหันใบเพกา กังหันใบลาน กังหันใบตาล กังหันดอกไม้ไผ่ กังหันไม้ไผ่ และกังหันกระดาษ เป็นต้น กังหันที่ชาวบ้านเคยเล่นกันมาตั้งแต่เดิม คือ กังหันใบเพกา ส่วนกังหันไม้ไผ่ ชาวบ้านมักจะทำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เพราะทำให้รู้แรงลมพัด และทิศทางเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการนวดข้าวที่กองอยู่ในลาน
วิธีทำ
กังหันใบเพกา
1. นำฝักเพกาตัดปลายฝักทั้ง 2 ข้าง แล้วแกะเปลือกออกจากกัน นำเม็ดอยู่ในฝักนั้นทิ้ง
2. ใช้มีดปลายแหลมกรีดเพกาซีกหนึ่งให้ทะลุเป็นรอย เพื่อให้ฝักเพกาอีกส่วนหนึ่งสอดรอย ที่เตรียมไว้เป็นรูปกากบาท
3. เจาะรูกลมๆ ตรงกึ่งกลางเพื่อใช้ไม้สอดรูหมุน ส่วนไม้อีกด้านหนึ่งใช้จับถือ
กังหันใบลานและกังหันใบตาล
1. นำใบลานหรือใบตาลมาขัดเป็นลายสอง สานหักมุมด้านขวา ตลอดปลายใบกังหันที่สานขัดเสร็จแล้วจะมี 8 เส้น
2. เจาะรูตรงกลางตัวกังหัน
3. เหลาแกนไม้ไผ่สอดรูให้หมุนเมื่อปะทะลม
กังหันไม้ไผ่
1. ใช้มีดผ่าไม้ไผ่ให้เป็นซีกบางๆ เหลาให้เรียบร้อย
2. เจาะรูขนาดใหญ่ตรงกึ่งกลางของตัวกังหัน เพื่อใช้แกนไม้สอดให้หมุน
3. ใช้มีดปาดข้อปล้องปลายไม้ไผ่ทั้ง 2 ข้างออก เพื่อทำหลอดเสียง หรือ ชาวบ้านเรียกว่าหวูดเสียง เมื่อลมพัดกังหันหมุน รูหวูดเสียงจะมีเสียงดัง
4. ใช้ครั่งลนไฟ พอกปลายกระบอกหลอดเสียง
วิธีเล่น
กังหันใบเพกา กังหันใบลาน และกังหันใบตาล กังหันประเภทนี้จะไม่มีเสียงดัง ซึ่งเด็กๆ มักจะถือวิ่งกันตามถนนหนทางหรือตามท้องไร่ท้องนา ส่วนกังหันไม้ไผ่ที่มีกระบอกหลอดเสียงมักจะตั้งไว้กับแกนไม้ไผ่ หรือนำไปผูกมัดกับต้นไม้กลางทุ่ง เวลาลมพัดจะเกิดเสียงดัง กระบอกหลอดเสียงกังหันไม้ไผ่นั้น หากใช้กระบอกที่เป็นหลอดเสียงใหญ่ เสียงจะดังกังวาน ถ้าเป็นกระบอกหลอดเสียงเล็ก เสียงจะแหลมเล็ก ชาวบ้านใช้หญ้าคาทำเป็นหางกังหัน สามารถหมุนไปโดยรอบทิศทางที่ลมพัดมา