ขาหยั่งเป็นของเล่นพื้นบ้าน ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นขาเดิน 2 ข้าง คล้ายเป็นขาเทียม เพื่อใช้ก้าวย่างเดินจะทำให้ตัวสูงขึ้น ขาหยั่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ขาย่าง โกกเกก โถกเถก เป็นต้น การเรียกว่า โกกเกก อาจจะเรียกตามเสียงที่ได้ยินจากการใช้ขาหยั่งเดิน หรืออากัปกิริยาของผู้เดินด้วยขาหยั่ง นอกจากนี้อาจจะมาจากการเพี้ยนเสียงระหว่างคำโกกเกก และคำโถกเถก คำว่า “โถก” แปลว่า ยาว เช่น คนขาโถก คือคนขายาว ส่วนคำว่า “เถก” แปลว่า เก้งก้าง เดินขาโถกเถก แปลว่า เดินขายาว มีลักษณะเก้งกว้าง การเล่นหยั่งขา มีลักษณะบางประการคล้ายกับการเล่นเดินกะลา เกิดจากความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ในพื้นบ้านชนบทมักจะผูกมัดวัวควาย หรือเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้าน การเดินเข้าไปในใต้ถุนบ้านอาจสกปรก จึงใช้การเดินด้วยกะลา ต่อมาจึงประยุกต์ใช้ขาหยั่งเดินแทนในที่ที่มีโคลนตมเฉอะแฉะมากขึ้น
วิธีทำ
1. เลือกไม้ไผ่ 2 ลำขนาดพอเหมาะ แข็งแรง ยาวประมาณ 2-5 เมตร นำมาเหลาให้เรียบ เหลือแขนงไผ่หรือกิ่งไผ่ที่แข็งแรงไว้สำหรับเหยียบเดิน
2. หากแขนงไผ่ไม่ทนทานและแข็งแรง จะเจาะรูลำไม้ไผ่ให้สูงเท่าๆ กัน ใช้ไม้เนื้อแข็งทำเป็นเดือยหรือสลัก เพื่อให้เท้าเหยียบได้สะดวก
3. ใช้ผ้าพันเดือยไม้ เพื่อไม่ให้เจ็บเท้า ใช้เท้าเหยียบที่ยืนหรือ เดือยไม้ทีละข้าง แล้วเดินหรือวิ่งไปให้เร็วที่สุด
วิธีเล่น
กติกาการเล่น ใช้ระยะทางจากเส้นเริ่มต้นถึงเส้นชัย มีระยะทาง 50 เมตร ทุกคนจะต้อยืนอยู่บนไม้ไผ่ตลอดทาง ถ้าล้มจะต้องกลับไปเริ่มต้นที่เส้นกำหนดเดิมใหม่ การเข้าเส้นชัยจะพิจารณาจากแนวลำตัวที่ถึงจุดเส้นชัย การเล่นหยั่งขามักนิยมเล่นในหมู่เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เด็กเล็กๆ เล่นอาจเกิดอันตรายได้