อีโก๊ะเป็นของเล่นพื้นบ้านไทยสมัยก่อน เด็กๆ และวัยรุ่นมักนิยมใช้เดินและวิ่งแข่งขันกัน อีโก๊ะมีชื่อเรียกแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ เช่น กบกับ กุบกับ อีกุบอีกับ โกบกาบ ปะกับ ก๊อบแก๊บ โก๊ะกะ โกกเกก อีก๊บ อีโก้บ รองเท้ากะลา และม้ากะลา เป็นต้น การเรียกชื่อแตกต่างกันอาจเป็นเพราะเรียกตามเสียงที่ได้ยินตอนเดินและตอน วิ่ง หรืออาจเรียกชื่อตามลักษณะวิธีใช้ อีโก๊ะมักเล่นกันในหมู่ของเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
วิธีทำ
1. เลือกกะลามะพร้าว กะลาที่นิยมใช้จะเป็นกะลาลูกค่อนข้างโต มีลักษณะแป้นๆ การเลือกกะลาลูกโตและแป้นขนาดเท่าๆ กันเพราะจะได้เหยียบถนัด ไม่เจ็บเท้าหรือพลัดตกลงมาได้
2. ใช้กระดาษทรายขัดผิวกะลาให้เรียบ
3. ใช้เชือกหรือปอความยาวประมาณ 1-2 เมตร ร้อยที่รูจาวกะลามะพร้าว หากรูกะลาเล็กเกินไปก็จะใช้มีดปลายแหลมหรือตะปูเจาะขยายรูให้กว้างขึ้นอีก
4. มัดปมปลายเชือกทั้ง 2 ข้างให้เรียบร้อย เพื่อไม่ไห้หลุดจากรูกะลาตอนเดินและวิ่ง
วิธีเล่น
วางกะลาทั้ง 2 ซีกคว่ำลงบนพื้น ผู้เล่นจะใช้เท้าเหยียบที่กะลาทั้ง 2 ข้าง คีบเชือกที่มัดอยู่ระหว่างง่ามหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ สองมือจับเชือกไว้ให้สูงในระดับเอวถึงอก การเดินหรือวิ่งจะยกมือไปพร้อมกับขาที่ก้าวย่างเดิน ต้องจับเชือกให้ตึงตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะทำให้หกล้มได้ง่าย การเล่นอีโก๊ะเป็นการฝึกประสานระหว่างเท้ากับมือถือเชือก