หม้อต้มน้ำตาล



คำอธิบาย

หม้อต้มน้ำตาลหรือหม้อตาลเป็นภาชนะดินเผา มีปากกลม ก้นหม้อเป็นกระเปาะ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 – 5 นิ้ว สูงประมาณ 3 นิ้ว ในสมัยก่อนใช้สำหรับใส่น้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวน้ำหวานของต้นตาลโตนดหรือต้นมะพร้าวเพื่อเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนหรือนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการครองชีพอื่น ๆ บนหม้อตาลแต่ละใบจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป มีข้อสันนิษฐานต่างกันไป ข้อหนึ่งสันนิษฐานว่า ลวดลายที่ปรากฏนั้นหมายถึงเป็นหม้อดินเผาหรือเป็นหม้อตาลคนละเจ้า หรือคนละยี่ห้อกัน ผู้ขายก็จะทำลวดลายของตนเองเอาไว้เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้จะได้มาซื้ออีกในครั้งต่อไป อีกข้อหนึ่งสันนิษฐานว่า ลวดลายบนหม้อตาลนั้น มีไว้สำหรับเพิ่มพื้นที่รับความร้อนในการต้มน้ำตาลหรือการปรุงอาหาร เพื่อให้ได้รับความร้อนอย่างเต็มที่
         

น้ำตาลโตนดเป็นผลผลิตของต้นตาลโตนดที่มีความสำคัญมาก ในหลายท้องที่ในประเทศไทยก็มีการผลิตน้ำตาลโตนดทั้งเพื่อบริโภคเองในครัวเรือนแล้วเป็นสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่จังหวัดที่แหล่งผลิตน้ำตาลโตนดที่สำคัญอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ในอดีตน้ำตาลโตนดเป็นสินค้าที่สามารถเรียกเก็บภาษีได้เป็นอันดับ 1 ของจังหวัดเพชรบุรี นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา มีการเรียกเก็บภาษีน้ำตาลและภาษีตาลหม้อ จนสามารถนำเงินภาษีน้ำตาลไปสมทบในการสร้างพระนครคีรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีกด้วย ในอดีตมีการทำหม้อตาลมากในจังหวัดเพชรบุรี แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะมีภาชนะชนิดอื่นที่สามารถใช้แทนกันได้ แม้จะยังมีการทำน้ำตาลโตนดอยู่ก็ตาม ในจังหวัดเพชรบุรีที่เป็นแหล่งที่เคยมีการทำหม้อตาลมากแห่งหนึ่งในอดีตก็ไม่มีการผลิตหม้อตาลชนิดนี้แล้ว