หม้อต้มยาเป็นภาชนะดินเผาทรงป้อม ปากกว้าง ปล่องกลาง ก้นสอบ มีฝาปิด ลักษณะเหมือนหม้อน้ำที่ใช้กันตามบ้านหรือที่อยู่อาศัยทั่วไป แต่หม้อต้มยาจะมีขนาดเท่า ๆ กันทุกใบ ต่างจากหม้อน้ำที่จะมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เนื่องจากหม้อยาจะมีขนาดที่ทำมาพอดีสำหรับต้มยาหนึ่งชุด
วัตถุดิบที่ใช้ทำเป็นยาต้มจะใช้สมุนไพรและยาโบราณหลายอย่างผสมกัน ขณะต้มยามักใช้ฝาหรือใบตองปิดปากหม้อเพื่อไม่ให้ยาระเหยออก และเพื่อไม่ให้ยาหกขณะรินยา มักมีเฉลวปักไว้ที่ปากหม้อโดยเชื่อว่าเฉลวจะช่วยป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมจากการกระทำของสิ่งชั่วร้าย ยาหม้อมีข้อดีในการรักษา เนื่องจากเป็นยาที่สามารถรักษาอาการคนไข้ได้ครอบคลุมทุกอาการ ไม่ว่าจะเป็นอาการหลักของโรคหรืออาการแทรกซ้อน รวมถึงอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดได้จากการรับประทานยาก็จะมีตัวยาประกอบที่สามารถไปควบคุมฤทธิ์ยาที่อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ยาหม้อยังเป็นตัวยาที่ดูดซึมได้ง่าย ออกฤทธิ์เร็ว และมีวิธีการเตรียมที่ง่ายและสะดวกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยาหม้อจะมีข้อเสีย ในเรื่องของสี กลิ่นและรสชาติในการรับประทาน อีกทั้งยาต้มไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเนื่องจากขึ้นราได้ง่าย
แพทย์พื้นบ้านของภาคอีสานที่ชำนาญการรักษาโรคโดยใช้ยาสมุนไพรจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า หมอยาหม้อ หรือหมอสมุนไพรซึ่งเป็นหมอที่เชี่ยวชาญการใช้สมุนไพรหรือยาโบราณหลายอย่างผสมกันต้มในหม้อดิน เพื่อนำน้ำยามาให้คนไข้ดื่ม
ในพื้นที่ภาคอื่น ๆ หม้อต้มยาอาจจะมีลักษณะต่างออกไปเช่นในจังหวัดสมุทรสาคร หม้อต้มยาจะมีลักษณะเป็นกา ตัวหม้อมีด้ามจับเพื่อสะดวกในการยกขึ้นลง มีฝา มีพวยกาสำหรับเทให้ยาต้มออกมาแต่จะมีที่กรองกากสมุนไพรให้ยังคงอยู่ในหม้อต้มยา หรือในบ้านพันหลวง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว หม้อต้มยาจะมีหูสองหูอยู่ตรงบริเวณปากหม้อเพื่อสะดวกต่อการยก
ในปัจจุบันความนิยมในการใช้หม้อต้มยาดินเผานั้นลดลง เนื่องจากมีเครื่องมีเครื่องใช้สมัยใหม่ที่มีความสะดวกและคงทนกว่าเข้ามาแทนที่ รวมทั้งยาหม้อเองที่ความนิยมใช้ในการรักษาค่อย ๆ ลดลงไปเนื่องจากมีการใช้ยาแผนปัจจุบันเข้ามาใช้ในการรักษาอาการป่วยแทน