คำอธิบาย
เครื่องมือดักประเภทจับตายหนูบนเรือนที่อาศัย ที่ลักษณะการทำงานโดยการทุบ ทับ ลงบนตัวหนูที่เข้าไปกัดกินเหยื่อภายใน ภาคเหนือใช้คำเลือกที่บ่งบอกลักษณะการเปรียบเทียบที่ดีหล่นลงทับในหลุมแผ่นล่าง จึงมีชื่อเรียก “ฟ้าทับเหว” ชื่อและการกระทำจึงเหมาะสมและมีอนุภาพน่ากลัว น่าเกรงขาม
อีทุบ เป็นเครื่องมือดักจับหนูบนเรือน ที่กัดแทะอาหารหรือทำลายเครื่องใช้ไม้สอยบนเรือน ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นที่รบกวนของผู้คนที่อาศัยอยู่บนเรือน ปัจจุบันอีทุบปรากฏพบเห็นได้น้อยมาก เชื่อว่าคงไม่มีการสร้างขึ้นมาใช้งานอีก เพราะกระบวนการประดิษฐ์ ต้องประกอบด้วยวัสดุ ใช้เวลา และมีความพยายามพอสมควร แต่ก็คุ้มค่าเรื่องอายุการใช้งาน และลักษณะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีทุบทำจากไม้เนื้อแข็ง ที่มีความหนาขนาดใหญ่น้ำหนักมาก มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนฐาน ทำจากแผ่นไม้หนาประมาณ 8 เซนติเมตร กว้างยาว 25x40 เซนติเมตร เซาะขุดเป็นหลุมในกรอบห่างจากขอบ 4 เซนติเมตร ลึก 3-4 เซนติเมตร ริมด้านกว้างเจาะเป็นรูเหลี่ยมทะลุลงถึงพื้นถากไม้เสายาวประมาณ 38 เซนติเมตร สวมโคนลงให้พอดี
ส่วนบน ใช้เป็นไม้ทุบคือ ใช้ไม้แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาวพอสวมเข้าในหลุมที่ขุดเอาไว้บนไม้ฐานแผ่นแรก ความหนาใช้ทุบประมาณ 11 เซนติเมตร บากส่วนริมเป็นร่องรับไม้เสาหลวมๆ พอใช้เป็นราง เลื่อนไม้ทุบขึ้นลงถากตกแต่งด้านบนไม้ทุบเจาะรูเป็นสี่เหลี่ยม กลางด้านบนไม้ทุบถากไม้เป็นแท่งยาว สวมลงในรูยึดให้แน่น ใช้เป็นไม้หลักที่ตั้งขึ้น มีความสูงเท่าๆ กัน ได้แก่ ไม้เสา ด้านข้าง 2 ตัว ไม้ดึงอยู่กลาง 1 ตัว จากนั้นจึงทำคานด้านบนเป็นแท่งไม้สี่เหลี่ยม เจาะบากเป็นช่อง 3 ช่อง ช่องริมกะสวมไม้เสาให้แน่นพอดี ช่องกลางใช้สวมไม้ดึง เป็นช่องหลวมๆ ยกขึ้นลงได้สะดวก บากโคนไม้ยก ผูกเชือกต่อไปยังโคนสลัก ใช้ขัดกับโครงเหล็ก ซึ่งเป็นเส้นโค้งเจาะ 2 รู ตอกปลายลงบนขอบด้านบนไม้ฐาน ส่วนอีกข้างหนึ่งตอกตะปู ยึดให้ตรงกับรูปลายโครงเหล็กสองตัว ใช้สำหรับพันเส้นลวด 2 เส้น ตอนกลางระหว่างเส้นลวดสานไม้ไผ่เป็นแผ่นใช้รองเหยื่อที่ปลายลวดอีกสองเส้น ผูกติดไม้
ใช้ไม้ขัดบนคานให้โคนสลักกับส่วนโค้งเหล็กด้านล่างให้ปลายสลักขัดกับไม้ขัดที่ผูกต่อกับแผ่นรองเหยื่อ จากนั้นจึงวางข้าวเหนียวปิ้งไฟเป็นแผ่นกลมๆ หรือหัวปลาทูย่างวางบนแผ่นรองเหยื่อ เมื่อหนูเข้ากินเหยื่อ จะหนีบแผ่นรองเหยื่อทำให้สลักหลุด ไม้ทุบจะทิ้งตัวลงมาทับหนู เสียงดัง “ทึ่ม” คนนอนหูไวสะดุ้งตื่นทันที