คำอธิบาย
จั่นเป็นเครื่องมือดักสัตว์มีหลายขนาดแตกต่างกันตามขนาดของสัตว์ บางชนิดถูกสร้างขึ้นมาใช้เฉพาะกิจเพียงครั้งเดียว เช่น จั่นดักเสือ หรือสร้างขึ้นเพื่อนดักชะมด อีเห็นในป่าที่มีไม่มากพอที่จะดักได้หลายๆ ครั้ง การเลือกใช้จั่นดัก เพื่อหวังจะจับเป็นสัตว์มากกว่าการใช้วิธีอื่นๆ สำหรับจั่นที่ยังคงปรากฏ พบอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ได้แก่ จั่นดักปลา และจั่นดักหนู
จั่นดักหนูเป็นเครื่องมือจับหนู โดยใช้เหยื่อเสียบล่ออยู่ภายใน การทำจั่นหนูจะไม่นิยมทำเก็บไว้หลายๆ หลัง เหมือนจั่นดักปลา เพราะจั่นดักหนูท้องขาวในท้องทุ่งนามีเครื่องมือดักชนิดอื่นที่เหมาะสมกว่า ดังนั้น จั่นดักหนู จึงเหมาะสำหรับดักบนเรือน ยุ้ง ฉาง เล้าข้าว เพื่อป้องกันการทำลายข้าวของเครื่องใช้จากหนูมากกว่าการดักเพื่ออาหาร
จั่นดักหนูมีโครงสร้างส่วนรวมทำจากแผ่นไม้จริง อาจมีซี่ลวดทำเป็นกรงประกอบด้านข้างหรือด้านหลัง มีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความจำกัดของแผ่นไม้เป็นหลัก มีลักษณะเป็นกล่องรูปสี่เหลี่ยม โดยตลอดแผ่นไม้ประกอบกัน ด้านล่าง ด้านบน และด้านข้าง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องประตูเลื่อนขึ้นลงได้ มีกระโดงอยู่ด้านบนเพื่อรับคานไม้ โดยที่ด้านหน้ามีเชือกผูกต่อจากประตู หากเลื่อนขึ้นจะดึงประตูขึ้นเปิดเป็นช่องทางเข้า ด้านหลังผูกต่อกับเชือกไปที่โคนสลัก โคนสลักจะขัดกับประตูที่ตอกไว้ตรงกลางด้านหลังจั่น และบริเวณข้างตะปูจะเซาะเจาะเป็นช่องเพื่อให้โคนไม้เสียบเหยื่อขัดกับปลายสลัก
วิธีการดัก จะดักเวลาค่ำโดยเลือกดักเมื่อเห็นว่ามีหนูอาศัยอยู่บนเรือนหรือหากินข้าวเปลือกในยุ้งฉาง เล้าข้าว เลือกวางบนพื้นที่คาดว่าหนูจะเข้ามากินอาหาร โดยใช้ปลายไม้เสียบเหยื่อที่เป็นข้าวเหนียวปิ้งไฟพอหอม หัวปลาแห้งหรือเศษอาหาร โดยสอดโคนไม้เสียบเหยื่อจากด้านในโผล่ออกมาจากช่องด้านหลังจั่น แล้วใช้เชือกสลักขัดกับตะปู ปลายสลักขัดโคน ไม้เสียบเหยื่อขณะที่ดึงเชือกเพื่อขัดสลัก เชือกจะดึงท้ายคานไม้ลงปลายคานจะดึงประตูเปิดขึ้นปล่อยทิ้งไว้ เมื่อหนูออกหาอาหารได้กลิ่นหรือเห็นเหยื่อภายในก็จะเข้าในจั่น เพื่อกินเหยื่อทำให้โคนไม้เสียบเหยื่อหลุดจากสลัก ประตูก็จะเลื่อนลงด้วยน้ำหนักประตูเองปิดทางเข้า – ออก กักขังหนูไว้ภายใน