ด้วงแย้



คำอธิบาย
แย้เป็นสัตว์เลื่อยคลานสี่เท้า  มีลักษณะคล้ายกิ้งก่า  แต่ไม่มีแผงกระโดงหลัง  ตัวสีน้ำตาลท้องสีเหลืองอ่อนกลางหลังมีลาย  จากหูด้านข้างถึงกลางตัวมีลายสีดำสลับส้ม  ข้างเอวมีแผงแบนสีส้ม  โคนหางแบนแล้วค่อยๆกลมแหลมไปที่ปลายหาง  ผิวหนังหยาบย่นไม่มีเกร็ด  หากินปลวก มด แมลง บนพื้นดินเวลากลางวัน  ขุดรูเป็นดินทรายใช้เป็นที่อาศัยหลบซ่อน  เมื่อฟ้าครึ่มฝนจะลงรูขุดขุยดินภายในปิดปากรู  เมื่อเห็นศัตรูจะวิ่งลงรูอย่างรวดเร็ว  แล้วจะออกมาหากินบริเวณที่อยู่อาศัยอีกเมื่อเห็นว่าปลอดภัย  จากลักษณะนิสัยดังกล่าวชาวบ้านจึงรู้วิธีวางกับดัก  เพื่อนำมาประกอบอาหาร
 
แย้นับว่าเป็นอาหารยอดนิยมของชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งหาดักไว้เฉพาะฤดูหนาวและฤดูร้อน  ดักได้สองสามตัวก็เพียงพอสำหรับอาหารในครัวเรือน  ดักครั้งสองครั้งก็พอสำหรับรอบปี  ปัจจุบันปรากฏพบการดักจับแย้มีหลายวิธี  เช่น  การวางเบ็ดราวโดยใช้ข้าวตอกเกี่ยวเบ็ดให้แย้กิน  ใช้ตาข่ายคลุมปากรูแล้วใช้สูบรถจักรยานสูบอีกรูหนึ่งให้แย้ตกใจขึ้นมาติดตาข่ายหรือการใช้เชือกทำบ่วงผูกติดโคนไม้ชิ้นเล็กปักไม้วางบ่วงครอบปากรู  วิธีดังกล่าวมีเจตนาดักจับแย้ให้สูญพันธุ์  เพราะได้แย้จำนวนมากไม่จำกัดขนาด  มัดเป็นพวงที่เอวหรือไม่ก็หักขาหลังถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านบางคนในปัจจุบัน  ที่ใช้การเอาเปรียบธรรมชาติแบบเกินพอเกินไป
 
ด้วงแย้  เป็นเครื่องมือจับตายแย้  ไม่มีเหยื่อล่อ  มีลักษณะคล้ายด้วงดักหนู  แต่ขนาดเล็กกว่า  ในที่นี้  ขอกล่าวถึงเครื่องมือดักแย้  ที่ใช้แรงยึดดึงด้วยหนังยางในรถจักรยาน  ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นคันไม้ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร เหลาปลายไม้ไผ่  เหลาเป็นคันไม้ยาวประมาณ  45 เซนติเมตร  เหลาปลายเรียวโคนหนาที่โคนเสี้ยมแหลม  ตัดกระบอกไม้ไผ่เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 4 เซนติเมตร  สูง 3 เซนติเมตร  ผูกลวดติดกับคันไม้เหลือโคนเสี้ยมแหลม  บากเซาะร่องเป็นรางรองเชือกภายในปากกระบอก  เจาะรูด้านบนตรงกับรอยบากภายใน  เหลาไม้ขัดยาว 20 เซนติเมตร  เหลาสลักยาวประมาณ  5 เซนติเมตร  กว้าง 2 เซนติเมตร  กลางไม้ด้านในบากไม้  เพื่อให้วางครอบขัดปากกระบอกด้านบนได้  ที่โคนบากเพื่อผูกเชือก  ตัดยางในรถจักรยาน  กว้างยาว 2x20  เซนติเมตร  ปลายหนังยางผูกติดปลายไม้คัน  สอดเชือกลงในรูที่กระบอก  ผูกปมเชือกด้านนอกกระบอก  จากนั้นผูกปมด้านในโผล่มาด้านนอก  จากนั้นจึงผูกที่โคนสลักห่างจากปมแรก 20 เซนติเมตร  ผูกต่อที่โคนไม้ขัด  แล้วใช้ปลายเชือกผูกต่อไปยังปลายหนังยาง  เจาะกลางไม้คันพอให้ปลายไม้ขัด  ยึดค้ำได้
 
วิธีการวางดัก  เมื่อพบรูแย้ที่ปากรูไม่มีขุยปิดมีรอยเข้า – ออก  แสดงว่า  แย้ออกหากินหรือแย้อาจเห็นคนก่อน  แล้ววิ่งเข้ารูโดยที่ผู้ดักไม่เห็น  จะวางกับดักโดยให้ปลายไม้ขัดค้ำกลางไม้คัน  วางสลักขัดปากกระบอก  แล้วแต่งเชือกภายในกระบอกให้เข้าราง  เสียบไม้คันริมปากรูแย้  การดักจับแย้โดยปกติ  ผู้ดักจะอยู่แถวบริเวณใกล้เคียงแถวนั้น  จึงสามารถปลดแย้ออกจากด้วงได้ทันก่อนที่แย้จะตาย  แต่ด้วงชนิดที่มีปมในช่องว่าง  จะไม่มุ่งรัดคอแย้โดยตรง  แต่จะรัดพออยู่ไม่ให้แย้หลุดจากด้วง  ดังนั้น  ถึงแย้ติดด้วงอยู่นานก็ไม่ตาย
 
ปัจจุบันแย้เริ่มหายาก  ชาวบ้านหลายคนที่มีหัวไร่ปลายนาเป็นที่โล่ง  ก็จะอนุรักษ์หวงห้ามไม่ให้ผู้ใดดักแย้  ปรากฏพบเช่นกัน  มีการซื้อแย้มาปล่อยดูแล  เพราะเชื่อว่าแย้เป็นสัตว์ที่ลูกหลานควรได้เห็นในอนาคต