ซิงกระต่าย



คำอธิบาย
กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  สี่เท้า  ตัวขนาดแมวไทย  มีฟันแทะคู่หน้าสองคู่  คู่บนมีสี่ซี่ซ้อนกันเป็นสองแถว  แถวหน้าใหญ่  แถวหลังเล็ก  เท้าคู่หน้าสั้นคู่หลังยาวจึงวิ่งกระโดดได้รวดเร็ว  ใบหูยาวบิดไปมาได้  จึงได้ยินเสียงรอบด้าน  ระแวดระวังภัยและตื่นตกใจง่าย  ดวงตาใหญ่มองเห็นได้ดีเวลาค่ำคืน  โดยเฉพาะคืนที่มีแสงจันทร์  หางสั้นขนนุ่มหนาสีน้ำตาล  กลมกลืนกับพื้นดินใบไม้  หญ้าแห้ง  หากินใบไม้  ใบหญ้า  ข้าวกล้า  ริมทุ่งอาศัยบริเวณป่าโคก  ป่าโปร่ง  คุ้ยดินตื้นๆ พอซุกตัวทำรังนอนในร่มพุ่มไม้เตี้ยๆ
 
กระต่ายมีขนอ่อนนุ่ม  ไม่มีพิษภัยทำร้ายใคร  จึงทำเป็นที่รู้จักน่าเอ็นดูสำหรับบุคคลทั่วไป  ปัจจุบันมีการผสมสายพันธุ์  ให้เกิดสีสวยงาม  นิยมนำมาเลี้ยงดูเล่นเป็นจำนวนมาก  กระต่ายได้รับคำเปรียบเทียบเปรียบเปรย  เป็นจำนวนมาก  เช่น  “กระต่ายหมายจันทร์”  หมายถึงผู้ชายหมายปองผู้หญิงที่สูงศักดิ์กว่า  “กระต่ายตื่นตูม” คืออาการตื่นตกใจแบบไม่มีเหตุผล  “กระต่ายกับเต่า”  เชื่อมั่นชะล่าใจในตัวเองเกินไป  “กระต่ายขาเดียว”  ไม่ยอมรับ  ไม่ยอมรับอย่างเดียว  หรือแม้แต่นำไม้มาแกะถากเหลา  ขึ้นรูปเป็นกระต่ายใช้ขูดเนื้อมะพร้าวอีกด้วย
 
กระต่ายป่าถือได้ว่าเป็นสัตว์ป่าสี่เท้าขนาดใหญ่ที่ใกล้ชิดกับชาวไร่ชาวนามากที่สุด  แต่ก่อนพบเห็นได้บนโคก  ป่าโปร่งติดหัวไร่ปลายนา  ปัจจุบันยังพอพบเห็นได้บ้าง  แต่ไม่มากเหมือนในอดีต  หากชาวบ้านพบเห็นก็จะนัดหมายรวมตัวกันเพื่อดักกระต่าย
 
ซิงกระต่าย  เป็นเครื่องมือดักกระต่ายป่ามีส่วนประกอบ 2 ส่วน  ได้แก่ ไม้โครงและตาข่าย  ไม้โครง  ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นยาวประมาณ 2 เมตร  กว้าง 2x1 เซนติเมตร  ปลายไม้ทั้งสองข้างทำเป็นขาหนากว่าตัว  เสี้ยมปลายแหลม
 
ตาข่าย  ถักด้วยเชือกมีตาห่างประมาณ 6 เซนติเมตร  ถักร้อยในห่วงที่ทำจากเส้นหวายหรือลวดดัดเป็นวงกลม  ทำเป็นหูสองข้าง  เมื่อขึงตึงจะยาวประมาณ  120 เซนติเมตร  ผูกเชือกสูงจากปลายขาประมาณ 1 คืบ  ร้อยผ่านห่วงและร้อยตามริมตาข่าย  ผ่านห่วงแล้วผูกกับขาไม้  หากดักได้กระต่าย  ตาข่ายจะรูดรวบไปตามเชือกที่ผูกติดกับขาไม้  ทำให้ไม่หนีรอดได้
 
วิธีการดัก  ซิงกระต่ายเป็นเครื่องมือดักจับเป็นกระต่ายป่า  ดักได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  การดักกลางวันจำเป็นต้องใช้คนไล่กระต่ายหลายคน  เพื่อให้กระต่ายวิ่งเข้าติดซิง  ส่วนการดักเวลากลางคืนต้องเป็นสถานที่ที่กระต่ายชุกชุม  ปล่อยให้กระต่ายวิ่งเล่นแล้วติดซิงเอง  แต่โดยทั่วไปการดักกระต่ายป่าจะดักเวลากลางวัน  หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวจนถึงต้นฤดูฝน  โดยเฉพาะช่วงที่มีไฟป่าเผาไหม้ป่าผ่านไป  พื้นที่จะโล่ง  และหากมีฝนผ่านไป  เวลาเช้าชาวบ้านที่ชอบดักกระต่ายจะออกมารวมตัวกันออกไป  เพื่อสังเกตเห็นรอยเท้ากระต่ายที่ชัดเจนหลังฝนตก  คาดคะเนที่ซุ้มซ่อนของกระต่ายได้  จึงกำหนดสถานที่วางซิง วางซิงห่างออกไปทางด้านหน้า  วางเป็นแถวตามช่องว่างระหว่างพุ่มไม้  ห่างหรือชิดกันตามช่องเส้นทางที่คาดว่ากระต่ายจะวิ่งผ่าน  โดยการเสียบขาโครงไม้ลงพื้นให้แน่น  แล้วใช้ตาข่ายแขวนห้อย  ปิดระหว่างช่องขาซิง  ทำเช่นนี้ห่างๆ กัน  หากห่างกันมากก็จะตัดหักกิ่งไม้มาปิดช่องว่าง  เรียกว่า “เผียด”  กั้น  จากนั้นจึงอ้อมกระจายมาด้านหลังที่กระต่ายซุกซ่อน  ใช้ไม้ตีเสียบไล่ตามพุ่มไม้  ให้กระต่ายตื่น  เพื่อให้วิ่งไปด้านหน้าที่มีซิงหลายหลัง  ขวางกันอยู่  หากกระต่ายวิ่งไปตามที่กำหนดเข้าซิง  ตาข่ายจะรวบตัวกระต่ายรูดไปตามเชือกที่ผูกติดกับขาโครงไม้  บางครั้งความแรงของกระต่าย  ทำให้ขาซิงหลุดจาดพื้นดิน  แต่ตัวกระต่ายก็ไม่หลุดออกจากตาข่าย  
 
การดักกระต่ายป่าด้วยวิธีการไล่ต้อนลักษณะนี้  เป็นการดักที่ได้ผลแน่นอนเพราะรู้เห็นว่ากระต่ายมีอยู่จริง  เป็นการหวังผลที่แน่นอนกว่าปล่อยให้กระต่ายเข้าซิงเอง  แต่การดักลักษณะนี้ใช่ว่าได้ผลร้อยเปอร์เซ็น  ปรากฏพบว่า  จำนวนดัก 10 ครั้ง  ได้ผลประมาณครึ่งหนึ่ง  คือ  กระต่ายวิ่งออกนอกเส้นทางผู้ไล่  พรานกระต่ายจะกลับบ้านมาพร้อมกับซิงตาข่ายเปล่า  ทั้งเหนื่อยทั้งหิว  พร้อมคำอาฆาตแค้นในใจ  หลังฝนพบกันใหม่