พะเนียดนกเขา



คำอธิบาย
นกเขาเป็นนกยอดนิยมที่นิยมเลี้ยงกันมากชนิดหนึ่ง  เจ้าของจะใส่ใจดูแลรักใคร่มากกว่านกชนิดอื่น  ทางภาคใต้นักเลงนกเลี้ยงนกเขาอย่างดี  มีราคานับแสน  นับล้านบาท  ชาวบ้านทั่วไปขายนกเขาได้ราคาพันบาทนับว่าได้ราคาดี  นกเขาที่พบเห็นทั่วไปมี 3 ชนิด  ได้แก่  นกเขาชวา  นกเขาใหญ่ และนกเขาไฟ
 
นกเขาไฟตัวผู้มีหัวสีเทาปีกสีแดงเรื่อ  ตัวเมียจะมีสีจางกว่าไม่เป็นที่นิยมเลี้ยง  เพราะมีชื่อว่า “ไฟ”  นกเขาใหญ่  เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  วัดจากปลายปากถึงปลายหาง  ยาวถึง 30 เซนติเมตร  ตัวสีเทา  หลังคอมีจุดประกายสีขาวบนพื้นสีดำ  เป็นนกที่นิยมเลี้ยงชนิดหนึ่ง  นกเขาชวามีขนาดเล็กที่สุด บางพื้นที่เรียกว่านกเขาเล็ก หรือ นกเขาแขก  เพราะมีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทย  ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย  มีสีเทา  ลายขวางสีดำพาดอยู่ข้างปีกไปจนถึงคอ  นกเขาชวาและเขาใหญ่มีเลี้ยงกันอยู่ทั่วไป  นกทั้งสามชนิดมีลักษณะอุปนิสัยคล้ายกัน  ห่วงถิ่นฐาน  อาศัยอยู่ในป่าละเมาะ  ป่าโปร่ง  ต้นไม้บริเวณท้องทุ่งนา  หากินเมล็ดพืชอยู่  ตัวเดียว  เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ  บนพื้นดิน  ทำงานด้วยกิ่งไม้วางซ้อนกันหยาบๆ  วางไข่ครั้งละ 2 – 3 ฟอง  ชอบขันร้องเวลาเช้าและเวลาเย็น  มีเสียงขันร้องที่ไพเราะน่าฟัง  ลีลา  จังหวะ  ถี่ ห่าง น่าชื่นชม  เลี้ยงง่าย  คุ้นคนเร็ว  รู้จักประจบเจ้าของ  ต้องการให้ขันเมื่อไหร่ก็ได้  มีตำราว่าด้วยรูปลักษณะตำรา  ถือว่าเป็นมงคลแก่เจ้าของ  มีการดักจับนกเขาป่า  มาเพื่อเลี้ยงและใช้เป็นนกต่อ
 
นกต่อ คือ  นกเขาป่าตัวผู้ที่ดักต่อได้นำมาเลี้ยงในกรงใช้เวลานานหลายเดือนจนเชื่อง  ฝึกให้เข้าพะเนียดวางพาดบนต้นไม้ใกล้ๆ เรือนให้นกคุ้น เพื่อหลอกล่อ ดักนกป่า
 
พะเนียด  คือ  เครื่องมือดักนกเขาป่า  ที่ต้องใช้นกต่อกักขังในกรง  หน้ากรงพะเนียดมีชานยื่นออกมา  มีคอนสำหรับนกป่าเกาะ  พะเนียดมีลักษณะคล้ายกันแต่มีชานต่างกัน  โดยทั่วไปมีชานข้างเดียวด้านหน้า  แต่ก็พบว่า  มี 2 ชาน 3 ชาน 4 ชาน  มีชานที่ห่างจากพะเนียด  หรือไม่มีชานแต่มีตาข่ายที่มีห่วงรูดตะปบจับให้ตาข่ายรูดห่อคลุมนกป่า
 
พะเนียดทำจากแกนไม้เนื้อแข็ง  เหลาบากเจาะเตรียมไว้  เพื่อต่อกับส่วนประกอบอื่นๆ  มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร  แบ่งครึ่งหนึ่งเป็นกรง  อีกครึ่งหนึ่งทำชาน  กรงที่ฐานทำจากเส้นหวายเป็นรูปวงกลม  รอบไม้แกนต่อขึ้นข้างบนด้วยเส้นลวด  ที่ได้จากการเผาล้อรถจักรยานยนต์  รอยต่อยึดกับโครงหวายเป็นช่องตาห่างๆ  มีประตูเลื่อนเข้าออกด้านล่าง  ใช้เป็นที่ขังนกต่อ  ครึ่งหนึ่งของไม้แกนด้านหน้าทำชาน  โดยดัดเส้นลวดใหญ่  มนโค้งสอดเข้าแกนไม้ปลายลวดต่อติดกับหน้ากรงด้านล่าง  ถักร้อยตาข่ายโดยรอบบนแกนไม้ทำไม้เกาะ (คอน)  จากกิ่งไม้ปลายข้างหนึ่งผูกติดกับปลายแกนไม้  ปลายอีกข้างหนึ่งผูกเชือกต่อไปยังสลัก  สลักทำจากเส้นลวดตรงกลางดัดโค้งมนเป็นปมปลายอีก  ข้างในผูกติดด้านบนสุดของกรง  ไม้เกาะสามารถยกขึ้นลงได้  ฝาครอบทำจากเส้นลวด  ดัดโค้งที่ปลายลวด  ต่อจากปลายไม้แขนที่สอดกับไม้แกน  ซึ่งมีสปริง 2 ข้าง  รัดอยู่ด้านข้าง  ส่วนโค้งฝาครอบวางบนแกนไม้  ถักตาข่ายรอบฝาครอบ  ยกฝาครอบขึ้นแล้วปล่อย ฝาครอบจะดีดกลับลงด้วยแรงสปริง
 
วิธีการดักจับ  โดยธรรมชาตินกเขาเป็นนกหวงถิ่นไม่ยอมให้นกแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่  หากได้ยินเสียงนกถิ่นอื่นเข้ามาขันร้อง  ก็จะขับไล่  ถ้าไม่ยอมหนีออกจากพื้นที่  ก็จะบินเข้าไปจิกตีทันที  เมื่อธรรมชาตินกป่าเป็นเช่นนี้  นักเลงนกจึงนำนกต่อที่ฝึกขันยั่วยุดีแล้วใส่พะเนียด  ปิดกลัดด้วยใบไม้ออกล่อดักนกป่าในเวลาเช้า  โดยเลือกต้นไม้สูงมีใบโปร่ง  ก่อนวางพาดพะเนียดจะง้างฝาครอบขึ้นขัดสลัก  ทำให้ไม้เกาะยกตัวขึ้น  จึงผูกติดบนกิ่งไม้  โดยเลือกวางตามทางยาวของกิ่ง  แล้วหลบหนีออกมาทางด้านนอกให้ห่างจากที่วางดัก  จากนั้น  จึงซุ่มฟังเสียงนกที่เป็นผลงานของตัวเอง  ขันรบยั่วยุนกป่า  เมื่อนกเจ้าถิ่นได้ยินเสียงก็จะบินลัดเลาะเข้ามา  ขันขับไล่โต้ตอบ  จึงเป็นโอกาสให้นักเลงนกสังเกตเสียงขับร้องของนกป่าที่มีหลายเสียง  เช่น  ขันคู้  ขับโยก  ขับอ่าง  ขับยืน  ขับขึ้นหน้า  ผู้ที่ไม่ชำนาญก็จะได้ยินเพียง “ขรูกุก ๆ ๆ ๆ ๆ ขู – ระกุก”  หากนกป่าเลือดร้อนทนการยั่วยุไม่ได้ก็จะเข้าไปจิกตีนกต่อ  โดยการกระโดยเหยียบไม้เกาะ  ทำให้ไม้เกาะยุบ  ฝาจะดีดกลับครอบนกป่าติดอยู่หน้าชานโดยทันที  จึงขึ้นไปเพื่อจับนกป่า  นักเลงนกชั้นดีหากเห็นนกป่าที่มีเสียงและรูปลักษณะไม่เข้าตำราก็จะปล่อยนกไป  ต่อดักใหม่หรือนำพะเนียดกลับบ้าน  แต่หากนักเลงธรรมดาแถวหลัง  เมื่อได้เห็นรูปร่างลักษณะและได้ฟังเสียงนกป่าก่อนหน้านั้น  ที่ขันร้องไล่ว่า  “คั่วทั้งกระดูก  คั่วทั้งกระดูก”  ก็จะเอานกต่อและนกป่ากลับบ้าน