ลูกยาง



คำอธิบาย

ต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 50 เมตร ผลหรือลูกเป็นทรงกลมมีครีบตามยาวตั้งแต่ 2 3 และ 5 ปีก มีเมล็ดอยู่ข้างในผล ต้นไม้วงศ์ยางสกุล Dipterocarpus เรียกชื่อว่า ‘ยาง’ ผลจะมีปีกยาวเห็นชัด 2 ปีก ซึ่งมักนำมาเล่น อาทิจากต้นยางเหียง ต้นยางกราด ต้นยางนา ต้นกะบาก และต้นพลวง ลูกยางมีใบปีกที่ขนาด บิดเป็นมุมเฉียง รวมถึงแบะบาน ห่อตัว โค้งมน ที่ไม่เท่ากันซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกยางหล่น หมุนและตกในทิศทางที่ต่างกัน ลมจะพัดพาไปตกไกลต้นและกำเนิดเป็นต้นใหม่ ถ้าลูกยางหล่นใกล้ต้นเดิม มันจะงอกยากเพราะอยู่ใต้ต้นยางที่มีใบทึบหนาจะทำให้ต้นใหม่ขาดแสงแดดกับสารอาหาร ลูกยางมีปีกสองข้าง มีตุ่มกลมๆ คอยเป็นตัวถ่วง ตอนโยนขึ้นไปเอาตุ่มขึ้นฟ้าแต่ตอนตกลงมาทำไมตุ่มตกถึงพื้นก่อน ใบโค้งของลูกยางทั้งสองข้างลักษณะโค้งคล้ายปีก เมื่อลูกยางตกจากที่สูงอากาศจะเคลื่อนที่ผ่านปีกทำให้เกิดแรงต้านอากาศดันให้ลูกยางหมุนค้างอยู่ในอากาศได้เรียกว่า ‘แอโรไดนามิก’ เพราะมีแรงต้านอากาศทำให้ลูกยางเคลื่อนตัวในอากาศลักษณะเดียวกับที่ใช้สร้างปีกเครื่องร่อนและเครื่องบินต่างๆ

ประโยชน์ของการเล่นลูกยาง ด้านร่างกาย ออกกำลังแขนขากระโดดโยนลูกยาง สอดประสานกับสายตาที่จับจ้อง ด้านจิตใจ เพลิดเพลินเมื่อเห็นลูกยางพริ้วหมุนร่วงหล่น ด้านปัญญา ฝึกสังเกตทิศทางจากแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงลมที่ทำให้ลูกยางปลิวไปในทิศทางต่างกัน รวมถึงลักษณะอื่นๆ ของลูกยางเพื่อทราบวิวัฒนาการพันธุ์พืช หากได้ทดลองประดิษฐ์ลูกยางเองเป็นการเรียนรู้รูปทรงและเลียนแบบธรรมชาติ ด้านสังคม ร่วมเล่นโยนลูกยางไปพร้อมๆ กับคนอื่น 

 

เรื่องเล่าจากความทรงจำ

คุณยงยุทธ สงวนชม เล่าให้ฟังว่า “ตามคันนามักปลูกต้นยางนาเพื่อนำยางไปทำไต้จุดไฟ ต้นยางนาเป็นไม้ทนแล้งและในพื้นที่ที่มีน้ำท้วมขัง ตอนเด็กเห็นคนมาซื้อน้ำยางที่ได้จากต้นยางนา โดยชาวบ้านจะใช้วิธีเจาะต้นยางที่ยังไม่ตายให้เป็นโพรงแล้วเอาไฟไปเผาในโพรง ต้นยางนาจะผลิตน้ำยางออกมาเป็นน้ำสีน้ำตาลเข็ม ชาวบ้านจะเอาน้ำยางนี้ไปทาฝาบ้าน เป็นไม้เพื่อรักษาเนื้อไม้ให้ปลอดภัยจากปลวกและมอดตลอดจนแมลงที่กัดกินเนื้อไม้ และที่ก้นถังเก็บน้ำยางเหนียวเป็นก้อนชาวบ้านเอารวมกับขี้ยาง(เศษน้ำยางที่เถาถ่านปน) ก็จะเอาไปทำเป็นใต้จุดให้แสงสว่าง หรือจุดไฟเพื่อเป็นจุดกำเนิดของไฟในเถาถ่านหรือฟืนเพื่อทำอาหารและให้ความร้อน นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังเอาต้นยางนาขนาดใหญ่มาเลื่อยเป็นแผ่นเล็กกว้าง 4-6 นิ้ว หนา 1-1.5 ซ.ม. เพื่อทำเป็นฝาบ้านซึ่งจะคงทนเพราะว่าเนื้อไม้จะมีน้ำยาง เนื้อจะหยาบเป็นเส้นเมื่อทาน้ำมันยางแล้วจะคงทนต่อแดดฝนอยู่ได้นาน และที่สำคัญยางไม้ จะทำให้ปลอดภัยปลวก และมอด(สัตว์ตัวเล็กมากที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร) ที่ชอบกินไม้ทั่วๆ ไปเป็นอาหาร”

 

วิธีทำ

ลูกยาง ของเล่นจากธรรมชาติ

 

ลูกยางจากกระดาษ

นำกระดาษ A4 พับตามกว้าง ให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว พับให้เกิดรอยในด้านยาวแล้วตัดออกมา จากนั้นพับครึ่งในแนวยาว ขยำปลายด้านที่ติดกันให้เป็นก้อนกลม นำกระดาษย่น หรือสก็อตเทปพันรอบปลายที่ขยำให้เรียบร้อย คลี่ปลายทั้งสองด้านออกจากกัน

 

วิธีเล่น

นำลูกยางมาโยนเล่น เฝ้ามองมันลอยขึ้นไปบนอากาศแล้วพริ้วสะบัดร่วงหมุนติ้วลงมา จะเล่นคนเดียวหรือแข่งกันว่าลูกยางของใครหมุนเยอะกว่ากัน หรือตกช้ากว่ากัน

 

หมายเหตุ

ภาพ จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ยางนา