คำอธิบาย
ลูกสะบ้าที่นำมาเล่นคือเมล็ดที่อยู่ในฝักของต้นสะบ้าซึ่งเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ลักษณะเมล็ดกลม แบน ใหญ่ เปลือกนอกสีน้ำตาลแก่ เนื้อข้างในสีขาว เมล็ดสะบ้าที่นำมาเล่นมักเป็นต้นสะบ้าหลวงเพราะเมล็ดใหญ่
มีบันทึกการเล่นสะบ้าปรากฏในกฎมณเฑียรบาลเมื่อต้นกรุงศรีอยุธยา
ส. พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องพม่ารามัญ” ว่ามีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2332 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่กล่าวถึงการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ว่า “ตรุษสงกรานต์ตีเข้าบิณฑ์เล่นสะบ้า ชายหนุ่มร้องเล่นโพลก” ที่แสดงถึงความนิยมเล่นสะบ้าในสมัยนั้น และยังมีนิราศที่แต่งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการเล่นสะบ้าที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในเทศกาลสงกรานต์ตอนหนึ่งว่า
“พอมาสบพบปะพวกสะบ้า
เสียงเฮฮาเล่นกันลั่นวิหาร
ที่ใครแพ้ต้องรำทำประจาน
สนุกสนานสาวหนุ่มแน่นกลุ้มดู
ข้างละพวกชายหญิงยิงสะบ้า
แพ้ต้องรำทำท่าน่าอดสู
ล้วนสาวสาวน่าประโลมนางโฉมตรู
เที่ยวเดินดูน่าเพลินเจริญใจ”
สะบ้ามีวิธีการเล่นหลากหลาย อาทิ สะบ้าบ่อน สะบ้าหลาก สะบ้าชุด สะบ้าเลย สะบ้านั่ง สะบ้าคุ้ม สะบ้าลูกสาว สะบ้าไหว้ สะบ้าแลกเชลย สะบ้าบ่อน สะบ้าทอย เป็นต้น
ประโยชน์การเล่นสะบ้า
ด้านร่างกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อทุกสัดส่วน สร้างสมดุลของร่างกายเมื่อต้องตั้งใจเล็งยิงลูกสะบ้าของอีกฝ่าย
ด้านจิตใจ เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ
ด้านปัญญา ฝึกการคาดคะเนน้ำหนัก องศา มุม ค้นหาท่าทางที่เหมาะสมที่ใช้โยนเพื่อให้โดนลูกสะบ้าของอีกฝั่งล้ม รวมถึงเรียนรู้วิธีการตั้งลูกสะบ้าอย่างไรให้ล้มยากสังเกตเหลี่ยมมุมของสะบ้า ได้เรียนรู้ลักษณะของเมล็ดสะบ้า เมื่อเลิกเล่นแล้วทิ้งเมล็ดสะบ้าไว้ตามดินกลับมาดูอีกคราอาจเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่
ด้านสังคม เรียนรู้แพ้ รู้ชนะ
วิธีเล่น
ผู้เล่นทั้งสองข้างนำลูกสะบ้าจำนวนเท่าๆ กัน มาตั้งเป็นแนวให้ระยะห่างกันประมาณ 2 นิ้วหรือมากกว่านั้นก็ได้ ตามที่ผู้เล่นทั้งสองข้างจะตกลงกัน และให้เหลือลูกสะบ้าอยู่อย่างน้อยเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้เล่นหนึ่งข้าง (ไว้สำหรับยิง) ผู้เล่นแต่ละข้างอยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตร หรือมากกว่าแล้วแต่จะตกลงกัน เมื่อเริ่มเล่นข้างไหนจะเป็นผู้เริ่มก่อน ก็อาจจะตกลงกันเองหรือจะใช้วิธีโยนหัวโยนก้อย หรือจะจับไม้สั้นไม้ยาวก็ได้
เริ่มเล่นโดยฝ่ายที่ได้เล่นก่อนใช้ลูกสะบ้าที่เหลือ (เรียกว่าลูกเกยบ้างเรียกลูกโกย) ยิงลูกสะบ้าฝ้ายตรงข้ามที่ตังไว้เป็นแถว เมื่อหมดลูกเกย อีกข้างหนึ่งก็เอาลูกเกยยิงลูกสะบ้าของอีกข้างหนึ่ง ถ้าหากฝ่ายใดใช้ลูกเกยยิงสะบ้าของฝ่ายตรงกันข้ามล้มไม่หมด ฝ่ายนั้นจะต้องเอาลูกสะบ้าโดนให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามที่เหลือให้ล้มหมด หากโยนผิดจะถูกริบ ข้างใดถูกริบหมดข้างนั้นจะต้องคลานข้ามไปรับลูกสะบ้าคืน โดยเอาลูกสะบ้าบรรทุกหลังกลับมายังฝ่ายของตนเอง บางครั้งผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามอาจจะขี่หลังมาด้วย แล้วจึงเริ่มเล่นใหม่ทำอย่างนี้เรื่อยไป
การเล่นสะบ้ามอญ ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว โดยมากจะเล่นในเทศกาลสงกรานต์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ สะบ้าหนุ่มสาว (สะบ้าบ่อน) เป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนาน และสะบ้าช้าง (สะบ้าทอย) ที่เน้นการแข่งขันรู้แพ้รู้ชนะ ส่วนสะบ้ารำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชาวมอญบางไส้ไก่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งจะเน้นการรำโดยมีดนตรีประกอบระหว่างการเล่นสะบ้า
สะบ้าบ่อน (สะบ้าหนุ่มสาว) มักจะใช้ลานดินใต้ถุนบ้านเป็นสนาม สมัยก่อนบ้านมี 2 ชั้นใต้ถุนโปร่ง บ้านที่มีหญิงสาวมักจะมีบ่อนสะบ้าไว้ต้อนรับชายหนุ่มต่างหมู่บ้าน หนุ่มสาวหมู่บ้านเดียวกันจะไม่เล่นด้วยกันเด็ดขาด แต่ปัจจุบันจะมีการเล่นเฉพาะบ้านที่มีความพร้อมและได้รับเลือกไว้ และส่วนใหญ่จะคล้ายกับการแสดงทำนองการสาธิต มิได้เป็นการละเล่นซึ่งชายหนุ่มหญิงสาวรอคอยมาทั้งปีเพื่อโอกาสในการพบปะและสานสัมพันธ์ต่อกันเช่นเมื่ออดีต
การเตรียมบ่อน เริ่มจากเลือกที่โล่งกว้างประมาณกว้างยาว 5 เมตรขึ้นไป แล้วแต่ว่าจะต้องการให้สาวๆ นั่งได้กี่คน เช่น 5-8 คน เป็นต้น หาไม้กระดานมากั้นไว้ทั้ง 4 ด้าน กันลูกสะบ้ากระเด็นออก เตรียมที่นั่ง 2 ฟาก ก่อนถึงวันจะปรับพื้นดินให้เรียบ ขัดด้วยลูกสะบ้าหรือขวดแก้วจนขึ้นมัน เรียกว่านั่งแล้วผ้าถุงผ้าโสร่งไม่เปรอะเปื้อนดิน ตกแต่งประดับประดาบริเวณบ่อนด้วยต้นกล้วย ทางมะพร้าวผ่าซีก มัดโคนเข้ากับเสาบ้านผูกปลายเข้าไว้ด้วยกันเป็นวงโค้ง ประดับกระดาษสีฉลุลาย พวงมะโหด หรือผ้าแพรที่หาได้
แต่ก่อนหนุ่มสาวนิยมเล่นสะบ้ากันตลอดเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 7 วัน 7 คืน บ้านไหนสาวสวย มีดนตรีกล่อมบ่อนดีๆ คนติด แห่แหนกันมาทั้งผู้เล่นและผู้ชมสะบ้า เจ้าของบ้านก็ต้องเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเลี้ยงแขก จำพวกกะละแม ข้าวเหนียวแดง ข้าวแช่ บ่อยครั้งเล่นกันจนสว่าง เพราะหนุ่มบ้านไกลเดินลัดทุ่งกันมากลับบ้านกลับช่องลำบาก เช้าขึ้นก็หุงข้าวต้มเลี้ยงกัน วันต่อมาก็อาจตระเวนไปบ้านอื่น หรือหากพบสาวที่หมายตาจะอยู่บ่อนเดิมต่อทั้ง 7 วันก็ไม่มีใครว่า เจ้าบ้านก็มีหน้าที่หุงหาอาหารเลี้ยงกันไป
หนุ่มที่จะมาเล่นสะบ้าต้องเป็นหนุ่มบ้านอื่น มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าใครนำมา รุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด มาถึงต้องเจรจาขอเล่น โดยวางลูกสะบ้าของตนเป็นประกัน หากฝ่ายสาวยินยอมก็รับสะบ้านั้นไป ถือเป็นการจองบ่อน
กฎกติกาการเล่นในแต่ละหมู่บ้านแต่ละถิ่นก็มีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ให้ยึดทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก การดีดหรือทอยสะบ้าบางหมู่บ้านมีมากถึง 20 ท่า แต่ละท่าจะมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ เช่น อีมายฮะเกริ่ม เถิ่งเติง อีโป่ะฮ์ฮะจ๊อด โซบาเก่ม อีฮะอุบ อีแปะ อีตั่น อีฮะเร็ต อีงาก์จ อีนังตัวปอย อีมายพาด อีโหล่น และอีสื้อ เป็นต้น
ฝ่ายชายและหญิงจะผลัดกันเล่น เล่นไปตามท่าต่างๆ เมื่อฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (ดีดหรือทอยสะบ้าไม่ถูกเป้าของอีกฝ่ายหลายครั้ง จนฝ่ายตรงข้ามไม่ให้โอกาสแก้ตัวแล้ว) มอญเรียกว่า “อุย” จะต้องถูกยึดลูกสะบ้า เมื่อต้องการขอคืนก็ต้องยอมทำตามฝ่ายที่ชนะสั่ง เช่น ให้ฟ้อนรำ เต้น หรือทำท่าทำทางตลกขบขัน จนเป็นที่พอใจของฝ่ายชนะ จึงจะได้ลูกสะบ้าคืน แล้วก็สลับกันเล่นไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่เล่นสะบ้านี้ มักจะมีดนตรีประกอบและมีการร้องเชียร์จากผู้ชมตลอดการเล่น ถึงตอนพักครึ่ง นอกจากจะมีการเลี้ยงอาหารเครื่องดื่มแล้ว บ่อนที่มีมโหรีกล่อมบ่อน พ่อเพลงแม่เพลงจะเล่นทะแยมอญ ด้นเพลงสดโต้ตอบกันเป็นที่สนุกสนาน
ในระหว่างการเล่น ฝ่ายชายมักจะแสร้งเล่นพลาดให้ถูกทำโทษบ่อยๆ เพื่อต่อรองออดอ้อนฝ่ายหญิง หนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดพูดคุยกัน ก็เฉพาะช่วงเวลาเหล่านี้นี่เอง เกมสะบ้าจึงเป็นสิ่งที่หนุ่มสาวในอดีตทุกคนรอคอย และเมื่อถึงเวลาลงสนาม การเล่นก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ทั้งเป็นช่วงเวลาซึ่งผู้ชมและพ่อแม่ผู้ปกครองฝ่ายผู้หญิงจะสังเกตสังกา ลอบดูฝ่ายชายที่อาจจะมาเป็นลูกเขยในอนาคต บางคนมีน้ำใจนักกีฬา บางคนแพ้ชวนตี บางคนมีความเป็นผู้นำ เป็นต้น