คำอธิบาย
ของเล่นที่เล่นกันทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้ก้อนหิน 5 ก้อน อุปกรณ์หาง่าย จึงมีการตั้งกติกากันนิดหน่อย และปรับเปลี่ยนบ้างตามแต่ละพื้นที่ วิธีการเล่นหลักๆ คือ การเลือกหินก้อนนำแล้วโยนขึ้นอากาศ พร้อมกับรวบก้อนหินที่รอท่าอยู่ที่พื้น รวบปุ๊บรอรับก้อนที่กำลังร่วงจากอากาศปั๊บ ถือเป็นการเล่นที่สายตาและมือต้องประสานกันด้วยความแม่นยำ
ประโยชน์ของการเล่น
ด้านร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้สอดคล้องกับสายตา ฝึกความแม่นยำจากการคาดคะเน ป้องกันความจำเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุ
ด้านจิตใจ รู้จักยอมรับความพ่ายแพ้และความชนะ ฝึกฝนให้ตัวเองพยายามมีทักษะในการชนะในเกมท้ายที่สุดคือชนะใจตน ทั้งยังฝึกการควบคุมอารมณ์หากเล่นแพ้
ด้านปัญญา ฝึกสมาธิ เกิดไหวพริบในการแก้ปัญหา
ด้านสังคม หากเล่นเป็นหมู่คณะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และยังใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ภาพประกอบ
หมากเก็บที่ใช้โซ่พลาสติกเป็นอุปกรณ์การเล่น หมากเก็บที่ใช้โซ่พลาสติกเป็นอุปกรณ์การเล่น
วิธีทำ
ก้อนกรวด หรือโซ่พลาสติกนำมาร้อยเป็นวง
วิธีเล่น
จำนวนผู้เล่นได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือจะแบ่งเป็นทีมก็ได้ หากเล่นหลายคนต้องตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็นผู้เล่นคนแรก
วิธีการที่ใช้ตัดสินว่าใครจะได้เริ่มเล่นก่อน ได้แก่ โอน้อยออก เป่ายิงฉุบ หรือ ใช้วิธีหมากล้าน(ขึ้นร้าน) โยนก้อนหินทั้งหมดขึ้นแล้วใช้ฝ่ามือรับใครรับได้จำนวนมากกว่าก็เป็นฝ่ายเริ่มก่อน
มี 9 ขั้น จะเรียกแต่ละขั้นว่า “หมาก” หรือแปลว่า ตา ได้แก่ หมาก 1 / หมาก 2 / หมาก 3 / หมาก 4 / หมากจุ๊บ / หมากเล็กใหญ่ / หมากคาย / หมากแกง และหมากล้าน
ทุกหมากจะเริ่มด้วยการ ทอดก้อนหินทั้งหมดลงบนพื้น เลือกก้อนหินมาหนึ่งก้อน หรือเลือกก้อนที่อยู่ห่างถือเป็นตัวนำ
หมาก 1 โยนก้อนหินเม็ดที่เลือกขึ้นบนอากาศ พร้อมรับก้อนหินที่กำลังตกลงมา และหยิบก้อนต่างๆ ที่พื้น ตามแต่ละหมากด้วยความไว แล้วเก็บก้อนหินที่ทอดลงไปทีละเม็ด แล้ววางไว้ข้างตัว เก็บเม็ดที่เหลือโดยวิธีเดิม
หมาก 2 ทำเช่นเดียวกับหมาก 1 แต่เก็บก้อนหินครั้งละ 2 เม็ด
หมาก 3 ทำเช่นเดียวกับหมาก 1 แต่เก็บก้อนหิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เก็บ 3 เม็ดและครั้งที่ 2 เก็บ 1 เม็ด
หมาก 4 ใช้ “โปะ” คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ “ขึ้นร้าน” ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า “ตาย” แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย “ตาย” หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น
หมากจุ๊บ ใช้วิธีเดียวกับหมาก 4 แต่ตอนรับก้อนหินให้เอียงมือ เอาส่วนช่องว่างระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้รับเม็ดก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้
หมากเล็กใหญ่ ใช้วิธีเดียวกับหมาก 1 แล้วฝ่ายตรงกันข้ามว่า “เล็ก” หรือ “ใหญ่” ฝ่ายตรงกันข้ามจะดูลักษณะเม็ดก้อนหินที่คู่แข่งทอดได้ หากก้อนหินอยู่ชิดกันมากอาจทำให้เกิดการไหวได้ ก็จะบอกว่า “เล็ก” ผู้แข่งขันก็จะต้องเก็บก้อนหินทีละเม็ดเหมือนหมาก 1 ถ้าเม็ดก้อนหินอยู่ห่างกันมาก ฝ่ายตรงกันข้ามจะบอกว่า “ใหญ่” ผู้เล่นก็จะต้องโยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไปพร้อมกับใช้ฝ่ามือกวาดรวบก้อนหินบนพื้นให้หมดทั้ง 4 เม็ด หากรวบไม่ได้ หรือรับก้อนหินพลาด ก็ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงกันข้ามเล่นต่อ
หมากคาย ใช้มือกำก้อนหินไว้ในมือ 4 เม็ด โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป พร้อมกับปล่อยก้อนหินออกจากมือ 1 เม็ด แล้วเก็บก้อนหินพร้อมทั้งรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ โดยยังมีก้อนหินที่เหลือค้างอยู่ในมือ
หมากแกง แยกหรือเลือกก้อนหินหนึ่งเม็ดขึ้นไป พร้อมทอดก้อนหิน เมื่อทอดก้อนหินแล้วฝ่ายตรงกันข้ามจะเป็นผู้แกง โดยการเลือกก้อนหิน 2 ก้อน มาวางให้ชิดกันตรงกลางระหว่างก้อนหิน 2 เม็ด โดยให้อยู่ในแนวเดียวกัน ผู้เล่นจะต้องหยิบก้อนหิน 2 เม็ด ที่อยู่ตรงกลางขึ้นมาให้ได้โดยไม่ให้เกิดการไหว การหยิบก็ใช้วิธีเดิมคือ โยนก้อนหินเม็ดหนึ่งขึ้นไป หยิบก้อนหิน 2 เม็ดพร้อมกับรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ แล้ววางก้อนหิน 2 เม็ดไว้ โยนก้อนหินหนึ่งเม็ดขึ้นไปแล้วรวบก้อนหินทั้ง 2 เม็ดที่เหลือพร้อมรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้
หมากล้าน การเล่นหมากล้านมี 2 วิธี คือ
การเล่นหมากล้านอย่างง่าย
ให้นำก้อนหินทั้ง 5 เม็ด ไว้บนหลังมือแล้วโยนก้อนหินขึ้นไป พลิกฝ่ามือแล้วรับก้อนหินให้ได้ ถ้ารับได้เท่าใด ก็คิดคะแนนเท่านั้น
การเล่นหมากล้านอย่างยาก
ให้นำก้อนหินทั้ง 5 เม็ด ไว้ในฝ่ามือ โยนก้อนหินทั้งหมดขึ้น ใช้หลังมือรับแล้วโยนก้อนหินที่รับได้ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งหงายฝ่ามือรับก้อนหินที่ตกลงมาให้ได้ รับได้เท่าใดก็คิดเป็นคะแนนเท่านั้น
หมากเก็บนี้มีวิธีเล่นพลิกแพลงหลายอย่าง เช่น การใช้มือซ้ายป้องและเขี่ย หรือเก็บหมากให้เข้าในมือทีละลูกทีละ 2 3 4 ตามลำดับ เรียกว่า “อีกาเข้ารัง” ถ้าเขี่ยไม่เข้าก็นับเป็นตายยังมี “อีกาออกรัง” “รูปู” ซึ่งใช้มือซ้ายรูปต่างๆ ถ้าใช้นิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือยืนพื้น เป็นรูปเหมือนรูปูก็เรียก “รูปู” ผู้เล่นต้องเก็บหมากลงในรูปูหรือเขี่ยออกนอกรังในขณะที่รับลูกโยนให้ได้พร้อมกัน
ผู้เล่นจะต้องตกลงกันก่อนว่าจะเล่นสิ้นสุดเกมที่หมากใด แล้วแต่ความสามารถของคู่แข่งขัน ถ้าความสามารถน้อย จะสิ้นสุดที่หมาก 4 หากความสามารถมากขึ้นก็อาจจบที่หมากจุ๊บ หมากเล็กใหญ่ หมากคาย และหมากแกง เป็นต้น แต่จะจบเกมที่ขั้นตอนใดก็ตาม จะต้องลงท้ายด้วยหมากล้านเสมอ
ระหว่างการเล่นจะต้องเล่นให้ถูกต้อง คือจะต้องรับก้อนหินที่โยนขึ้นไปให้ได้ และจะต้องหยิบก้อนหินที่พื้น โดยไม่ให้ก้อนอื่นสะเทือน หรือไหว หากรับไม่ได้หรือเล่นแล้วเกิดการไหว ก็จะต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นต่อ
การตัดสิน การตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะนั้น จะนับคะแนนจากจำนวนเม็ดที่ล้านได้ ในหมากล้าน ใครเชี่ยวชาญเล่นได้โดยไม่ไหวเลย และเล่นได้หมากล้านบ่อยๆ ก็จะได้คะแนนมาก
วิธีลงโทษ เขกเข่าผู้แพ้
ทอด คือ แปล การเทปล่อยให้หินทั้ง 5 กระจาย
ตาย คือ ต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า “ตาย” หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า “ตาย” เช่นกัน
ตัวนำ อีตัว ก้อนโยน ลูกหมาก คือ หินที่ใช้โยนขึ้น