คำอธิบาย
หญ้าคาเป็นพืชที่พบได้ริมทางทั่วๆ ไป ทำให้เป็นของเล่นใกล้มือ เล่นได้จำนวนไม่จำกัด ต้องมีเทคนิคในการริดใบมาเล่นเพราะขอบใบหญ้าคาคม ถ้าหาหญ้าคาไม่ได้ เลือกใช้ใบตะไคร้ได้ ลักษณะคล้ายๆ กัน
ประโยชน์ของการเล่นจรวดหญ้าคา
ด้านร่างกาย ควบคุมนิ้ว ข้อมือ แขน ลำตัว เวลาที่จะปล่อยจรวด
ด้านจิตใจ ยามที่จรวดพุ่งออกจากฐาน จะตื่นเต้นว่าไปได้ไกลแค่ไหน หากไปตกในจุดที่เราต้องการความสนุกจะกลายเป็นความภูมิใจ
ด้านปัญญา สังเกตการใช้แรงเวลาปล่อยจรวด รวมถึงองศาในการตั้งแขนเพื่อที่จะปล่อยจรวดไปได้ไกล หรือไปได้สูง รวมถึงการตัดแต่งใบเพื่อให้ลู่ลมมากขึ้น
ด้านสังคม เล่นได้คนเดียวและเล่นเป็นกลุ่ม เป็นของเล่นที่ไม่ต้องเสียเงิน สามารถเล่นได้ไม่จำกัดจำนวน หากสร้างกติกาจะทำให้เล่นสนุกมากขึ้น
วิธีทำ
เลือกใบหญ้าคาที่ต้นสวยๆ ขนาดกว้างเสมอกัน จะเด็ดด้วยมือหรือใช้มีดหั่นก็ได้ จะเห็นว่ามีลำต้นหรือก้านใบอยู่กตรงลาง ใช้นิ้วดึงใบทั้งสองฝั่งลงมาประมาณ 5 ซม. จากนั้นใช้มือข้างนึงจับใบที่แยกจากก้านทั้งซ้ายและขวา วางใบหญ้าคาให้ขนานกับมือลักษณะจะพุ่งไปข้างหน้า และเอานิ้วชี้วางใต้ก้านอีกที วางบนมือข้างที่จับใบ จากนั้นใช้นิ้วชี้ดีดใบออกไป มือที่จับใบจับให้แน่นเป็นดั่งฐานปล่อย นิ้วชี้ทำหน้าที่เป็นตัวดีดจรวด
ข้อควรระวังหากจะเข้าพงไปเลือกใบหญ้าคา เพราะหน่อของหญ้าคาจะแหลม และใบเองก็คม
วิธีเล่น
นอกจากเล่นแบบธรรมดาคือปล่อยจรวดขึ้นฟ้าแล้ว สามารถตั้งกติกาใหม่ เช่น ยิงจรวดรอดห่วง ยิงจรวดใครไกลกว่า ยิงจรวดให้โดนเป้าหมาย เป็นต้น
เหมาะสำหรับเด็กโต เพราะใบหญ้าคามีความคมบาดผิวได้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
หญ้าคาเป็นพืชที่พบได้ในเขตร้อนชื้น พบได้ตามที่รกร้างภูเขาหินปูนและตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง รวมถึงตามริมทางทั่วๆ ไป
หญ้าคามีลักษณะใบเรียวยาวปลายแหลมผิวเรียบ จะแตกกิ่งก้านสาขาและงอกขึ้นเป็นกอใหม่และมีความสูงได้ประมาณ 50-100 ซม. โคนสอบเรียว กว้าง 1 - 2 ซม. ยาว 0.5-1 ม. ขอบใบคม ผิวใบมีขนสั้นอยู่จำนวนมาก หญ้าคาถึงแม้จะเป็นวัชพืชแต่มีประโยชน์นัก เกี่ยวเอาใบมามัดรวมกันทำเป็นแพใช้มุงหลังคากระท่อมอยู่อาศัย ทำคอกเลี้ยงสัตว์ กันแดดกันฝนให้ความเย็นกว่าหลังคาสังกะสี ทำเป็นของใช้ตระกร้า กระเป๋า ใช้เลี้ยงวัว เลี้ยงม้า นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา อาทิ แก้ร้อนใน แก้เลือดกำเดาออก แก้อ่อนเพลียเบื่ออาหาร แก้อาการบวมน้ำ เป็นต้น
การขยายพันธุ์ทางธรรมชาตินั้นเกิดจากการที่เมล็ดแก่ถูกลมพัดพาไปตกยังบริเวณต่างๆ จึงทำให้หญ้าคางอกขึ้นมา นอกจากนี้เหง้าใต้ดินยังสามารถงอกขยายไปเป็นต้นใหม่ได้อีกด้วย จึงทำให้หญ้าคาเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นพืชที่ชอบแดดทนแล้งได้เป็นอย่างดี แม้การเผาก็ยังไม่ทำให้เหง้าใต้ดินตายได้
เรื่องเล่าเกี่ยวกับหญ้าคาทางพุทธศาสนา มีพระพุทธรูปปางรับหญ้าคา อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้าเป็นกิริรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นแบบถือหญ้าคาก็มี ประวัติความเป็นมา เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ ทรงเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำสมตามอธิษฐานจิตอันเป็นนิมิตดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาละวัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราประทับพักพระกายที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์พอเวลาใกล้สายันต์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ร่มไม้อสัตถโพธิพฤกษ์ พบโสตถิยพราหมณ์ในระหว่างทาง โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสจึงน้อมกำหญ้าคาเข้าไปถวาย 8 กำ
พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ครั้นทรงรับหญ้าคาจากนายโสตถิยพราหมณ์แล้ว ก็เสด็จไปยังร่มไม้ อสัตถโพธิพฤกษ์ทางด้านปราจีนทิศ แล้วทรงลาดหญ้าคาต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้อสัตถโพธิพฤกษ์ด้านปราจีนทิศแล้วเสด็จนั่งขัดสมาธิ ผันพระปฤษฎางค์ทางลำต้นอสัตถโพธิพฤกษ์ทรงอธิษฐานในพระหฤทัยว่า “ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด จักไม่เสด็จลุกขึ้นเพียงนั้น พระมังสะและพระโลหิตจะแห้งเหือดไปเหลือแต่พระตจะ พระนราหู และพระอัฐิก็ตามทีเถิด” ขณะนั้น ความอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น เมื่อพระมหาบรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงอธิษฐานแล้วบัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตระการก็บันดาลผุดขึ้นแทนบัลลังก์หญ้าคาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
เรื่องพุทธศาสนิกชนชาวไทยเอาหญ้าคามาใช้ประกอบพิธีโดยใช้ฟ่อนหญ้าคาสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนปัจจุบัน ทรงพระถือว่าหญ้าคาเคยใช้เป็นพุทธบัลลังก์จึงเห็นเป็นสิริมงคล