คำอธิบาย
หญ้าไก่แจ้ ดอกหญ้า ดอกไก่ คือ ส่วนที่เอามาเล่น ‘ตีไก่’ ขึ้นตามดินทั่วๆ ไป แพร่พันธุ์ด้วยการแตกกอและเมล็ดเจริญเติบโตเร็ว หญ้าแพรกนี้มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ ต้นที่มีอายุมากจะสร้างหัวไก่ชูขึ้นพ้นส่วนอื่นๆ เห็นได้ชัดเจน มักใช้ปลูกเป็นสนามหญ้าทั่วๆ ไป เช่น สนามฟุตบอล สนามรักบี้ ในสวนสาธารณะ ปลูกตามขอบถนน สนามเด็กเล่น ปลูกเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกในพื้นที่กว้างๆ เพื่อปกคลุมดินป้องกันไม่ให้เกิดการพังทลายของดินได้
ประโยชน์การเล่นตีไก่หญ้าแพรก
ด้านร่างกาย ควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะบริเวณมือ ข้อมือ สายตาในการกะระยะและสังเกตจุดที่เปราะบางของ ‘ไก่’ คู่ต่อสู้เพื่อการฟาดที่ได้ประสิทธิภาพ
ด้านจิตใจ สนุกกับการแข่งขัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
ด้านปัญญา เรียนรู้ปัจจัยที่ทำให้แพ้ชนะ ทั้งจากการควบคุมร่างกายตนเองและ ‘ไก่’ ที่เป็นปัจจัยภายนอกซึ่งเราควบคุมไม่ได้แต่ใช้วิธีสังเกตเพื่อเสาะหา ‘ไก่’ ตัวใหม่ที่ทนทาน ทั้งยังได้รู้จักลักษณะหญ้าแพรกและถิ่นที่ขึ้น
ด้านสังคม ตีไก่ต้องเล่นหลายคน เรียนรู้ยอมรับกติกาการเล่นร่วมกัน
วิธีทำ
เลือกหน่อหญ้าแพรกที่แตกออกมาจากกิ่ง สังเกตที่เป็นก้อนๆ ตุ่มๆ ลักษณะคล้ายตัวไก่ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียก “ตีไก่” เลือกอันที่หัวโตๆ เพราะจะเหนียวทนทาน เก็บมาเยอะๆ เวลาตายจะได้มีตัวสำรอง เพราะไก่บางตัวตีครั้งเดียวก็ตาย
วิธีเล่น
ก่อนเริ่มให้ตกลงกันก่อนว่าใครจะเริ่มก่อน โดยวิธีการเป้ายิงฉุบหรือโอน้อยออก คนชนะเริ่มตีไก่ก่อน นำไก่ที่ได้มาผลัดกันฟาดสลับไปมา จนกว่าหัวไก่ใครจะขาดเป็นอันว่าแพ้หรือตาย ไก่บางตัวเหนียวตีได้หลายรอบ เทคนิคอยู่ที่การเลือกไก่ที่มีข้อที่แข็งแรง การเลือกหัวไก่ การจับขาไก่ตอนตี การตีลงไปที่คู่ต่อสู้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสังเกตของผู้เล่นแต่ละคน
ผลัดกันตี ไก่ใครขาดก่อนแพ้
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ความเชื่อเรื่องหญ้าแพรกกับการบูชาครูของไทยเชื่อว่า หญ้าแพรกเป็นพืชฟื้นตัวหรือเจริญเติบโตได้งอกงามและแพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าใช้หญ้าแพรกไว้ครูแล้วจะทำให้ลูกศิษย์เป็นผู้มีปัญญาแตกฉานเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรก และประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็วประดุจดั่งหญ้าแพรกที่แตกทอดแพร่กระจายพันธุ์ไปตามพื้นดิน
ในอินเดียใช้หญ้าแพรกบูชาพระคเณศ ถือว่าเป็นครูเทพเจ้าแห่งปัญญาความรู้ ในพิธีครอบละคร ครูเอาใบเงินใบทอง หญ้าแพรก ดอกมะเขือ มัดเป็นช่อทัดหูให้ผู้เป็นศิษย์ก็มี บางตำราก็ใช้ใบมะตูม หญ้าแพรก ใบเงิน ใบทอง แต่ก็มีหญ้าแพรกปนอยู่เหมือนกัน
มีตำนานหญ้าแพรกเล่าว่าหญ้าแพรกเป็นหญ้าของพระนารายณ์ เมื่อพระรามเข้าโกศ ได้ใช้ให้เสนาไปลวงนางสีดาว่าพระรามได้สวรรคตแล้ว นางสีดาหลงกล นึกว่าเป็นความจริงก็รีบมา แต่พอเปิดพระโกศก็ทราบว่าพระรามยังไม่สวรรคต นางสีดาจึงอธิษฐานแทรกพสุธาหนีไป พระรามรีบคว้าจับไว้แน่น และเข้าพระทัยว่าได้ยึดผมของนางสีดาไว้ได้แล้ว แต่ที่แท้คว้าเอาหญ้าแพรกเข้าไว้เต็มกำ และตั้งแต่นั้นมาก็เลยนับถือหญ้าแพรกว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า หญ้าแพรกก็คือหนวดของพญาอนันตนาคราช ซึ่งเป็นอาสนะที่บรรทมของพระนารายณ์ กล่าวกันว่าหนวดพญาอนันตนาคราชได้หลุดลอยขึ้นมาบนฝั่ง แล้วได้กลายเป็นหญ้าแพรก
แต่ในหนังสือ “ทุรคา ปูชา” ของ Prata Pachandra Ghosha กล่าวไปอีกทางหนึ่งว่า หญ้าแพรกนั้นก็คือผมของพระวิษณุซึ่งหลุดออกมาตอนกวนเกษียรสมุทร และหญ้าแพรกได้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ในเมื่อพวกเทวดาเอานํ้าอมฤตมาวางลงบนสนามหญ้าแพรก ในคัมภีร์จตุรมาส มหาตมยะ กล่าวว่าหญ้าแพรกเป็นภาคหนึ่งของพระราหู
หนังสือพุทธประวัติก็มีเรื่องเกี่ยวกับหญ้าแพรกอยู่ตอนหนึ่ง คือมีเรื่องกล่าวว่า ในคืนวันขึ้น ๑๔ คํ่า เดือน ๖ พระพุทธองค์บรรทมหลับไป และทรงพระสุบิน ๕ ประการ ในประการหนึ่งทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกจากพระนาภีสูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า ซึ่งมีอรรถาธิบายว่าพระองค์จะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรคผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล