คำอธิบาย
เมื่อครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมราชวงศ์เถาะได้ลงพื้นที่สำรวจสุโขทัย พบนายเหน่งซึ่งเป็นผู้ดัดแปลงหุ่นไหหลำให้เป็นหุ่นไทยและออกเชิดร้องเล่นหากิน เป็นที่สนุกสนาน จึงนำหุ่นกระบอกนั้นเข้ามาเล่นในเมืองหลวงบ้าง และในชั่วระยะเวลาไม่นาน ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยทั่วไป หุ่นกระบอกมีโอกาสแสดงในงานราษฎร์มากกว่างานหลวง โดยนิยมหาไปเล่นแก้บน งานทำขวัญจุก ขวัญนาค และงานมงคลอื่นๆ
หุ่นกระบอกส่วนใหญ่ทำออกมาเลียนแบบคน มีหัว หน้าตา มือ เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ มักเล่นตามบทละคร บทบาทสมมติ หากผู้เล่นเป็นเด็กๆ จะเล่นหุ่นกระบอกที่มีความซับซ้อนของกลไกน้อยกว่าหุ่นกระบองมืออาชีพ
ประโยชน์ของการเล่นหุ่นกระบอก
ด้านร่างกาย เรียนรู้การเคลื่อนไหวมือ การแสดงสีหน้า และกล้ามเนื้อทั้งตัวเพื่อกำหนดท่วงท่าเวลาเล่น เพราะต้องเล่นตามบทบาทสมมติที่หุ่นกระบอกตัวนั้นๆ เป็น
ด้านจิตใจ เล่นบทบาทสมมติพาเพลิดเพลิน ประโยชน์ของการเล่นบทบาทสมมติโดยใช้หุ่นกระบอกในทางจิตวิทยาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพูดสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจได้ รวมถึงสร้างความอดทนในการฝึกเล่นหุ่นกระบอก
ด้านปัญญา เรียนรู้กลไกในการทำให้หุ่นกระบอกเคลื่อนไหวได้ดั่งคน หุ่นกระบอกมักเล่นเป็นละครมีดนตรีประกอบทำให้เรียนรู้เรื่องภาษาและดนตรี
ด้านสังคม เรียนรู้การแบ่งปันและสนุกร่วมกันกับผู้อื่น
วิธีทำ
ตัวหุ่น ส่วนประกอบคือ ศีรษะหุ่น แกะจากไม้เนื้อเบา เช่น บำพู ไม้นุ่นทองพราว ไม้โมก หรือไม้สัก แล้วปั้นแต่งหน้าด้วยรักหรือดิน ปิดด้วยกระดาษสาที่ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ทาแป้งเปียกหรือกาว 3 ชั้น จนเรียบแน่น ทาฝุ่นสีขาว 3 ชั้น รอจนแห้งสนิท แล้วใช้ใบลิ้นเสือ หรือกระดาษทรายน้ำขัดให้ทั่วหน้าหุ่น บางตัวมีเครื่องประดับศีรษะ
ศีรษะที่เป็นตัวตลก จะทำปากให้อ้าได้ หุบได้ โดยมีเชือกดึงจากหน้าและห่วงอยู่ปลายเชือกสำหรับสอดนิ้วโป้งเข้าไปกระตุกให้ปากอ้าหรือหุบได้ หัวแบน หัวโหนก หัวจุก หัวแกละ เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวเด่นชัด หุ่นตัวตลกนี้ ส่วนมากคณะหุ่นกระบอกแทบทุกคณะจะถือว่าเป็นครู จะให้ความสำคัญไม่แพ้ตัวนายโรงด้วยสามารถดึงดูดคนดูได้ นอกจากตัวพระตัวนางตัวตลกยังมีหัวภาษา คือ มีหัวพม่า หัวลาว หัวจีน หัวมอญ และยังมีหัวช้าง หัวม้า หัวกว้างอีกด้วย
ตัวหุ่น จริง คือ ไม้กระบอกหรือไม้ไผ่ มีไหล่หุ่นทำด้วยไม้ติดอยู่ปลายกระบอกสำหรับเสียบส่วนหัว เสื้อหุ่นเป็นผืนผ้าเดียวกันพับครึ่ง เย็บเป็นถุงคลุม ไหล่หุ่นเจาะผ้าเป็นรูตรงไหล่สำหรับเสียบหัว และตรงมุมผ้าทั้งสองข้างที่พับมีช่องสำหรับมือหุ่นโผล่ มือหุ่นทั้งสองข้างมีไม้ไผ่เหลาเล็กเป็นก้านเสียบต่อจากมือลงมาสำหรับจับเชิด ยาวระดับ เดียวกับปลายผ้าด้านล่าง ไม้นี้เรียกว่า “ตะเกียบ”
ผ้าห่มนางของหุ่นกระบอก จะคลุมอยู่บนเสื้อหุ่นอีกที เป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเป็นตัวนางและมีนวมคอทับบนผ้าห่มอีกทีหนึ่ง ส่วนตัวพระมีนวมคอและมีอินทรธนูเย็บติดอยู่ที่ไหล่ทั้งสองข้าง เครื่องแต่งตัวเหล่านี้ล้วนปักด้วยดิ้นเลื่อมบนผ้าแพรด่วนบ้าง แพรไหมบ้าง และกำมะหยี่บ้าง นวมคอตัวพระ ยักษ์และลิงของหุ่นกระบอกแต่ก่อนมักจะมีครุยเงิน หรือทองห้อยลงมายาวรอบๆ นวม
มือหุ่น หุ่นตัวพระ จะมีมือขวาถืออาวุธได้เสมอ จึงมักจะแกะด้วยไม้มีรูสำหรับเสียบอาวุธเปลี่ยนไปได้ตามเรื่อง หุ่นตัวนาง มือหุ่นจะตั้งวงรำทั้งสองข้าง แต่บางตัวจะมีมือขวาถืออาวุธบ้าง พัดบ้าง
โรงหุ่นกระบอกและฉาก
โรงหุ่นมีลักษณะดังนี้ สูงจากพื้นดินพอประมาณให้คนยืนหรือนั่งดูได้
ความยาวหน้าโรงประมาณ 7 ม.
ความสูงจากพื้นถึงหลังคาโรงหุ่นประมาณ 3.50 ม.
ความสูงจาหน้าโรงถึงหลังโรงไม่น้อยกว่า 5 ม.
ฉากหุ่นกระบอกเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นรูปปราสาทราชวัง เป็นฉากผ้ามี 5 ชิ้น ตัดต่อกันเป็นผืนเดียวลงมาจากด้านบน โรงต้องสูงจากพื้นที่นั่งเชิด 1 ศอก หรือ 50 ซม เพื่อให้มือคนเชิดสอดศอกมาจับหุ่นเชิดหน้าฉากได้สะดวก
วิธีเล่น
ลักษณะการเล่น
คนเชิด การเชิดหุ่น มือซ้ายของผู้ เชิดจะถือกระกอกไม้ไผ่อันเป็นลำดับหุ่นหรือถือตะเกียบมือหุ่นซ้าย ขวา ไว้ในมือขวาของผู้เชิด เมื่อมีการใช้บทบาทบางครั้งผู้เชิดจะเอานิ้วก้อยซ้ายหนีบตะเกียบซ้ายของหุ่นเอาไว้ การเชิดหุ่นมีท่าในการเชิดหลายแบบ ดัวอย่างเข่น
1. ท่ากล่อมตัว เป็นท่าเชิดพื้นฐาน คือ กล่อมไหล่หุ่นจากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้ายให้นุ่มนวล
2. ท่าเชิดอ้อมมือ คือ แทงมือจากขวาไปซ้าย และจากซ้ายไปขวา
3. ท่ากระทบตัว ตรงกับจังหวะ ยืด ยุบ ของโขนละคร
4. ท่าโยกตัว ในจังหวะ “ต้อม ต้อมม่า ทิงทิ๊ง ตุ๊บ ทิงทิง”
ดนตรีการขับร้อง วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหุ่นกระบอก โดยมากใช้วงปีพาทย์เครื่องห้าประกอบอาทิ ปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองแขก กลองทัด และเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงหุ่นกระบอกที่จะขาดไม่ได้ คือ ซออู้ กลองแต๊กแต๋ว นอกจากนี้ยังมี ม้าห้อ ล่อโก๊ะ เพิ่มพิเศษเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับจีน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ตอนศึกษาเก้าทัพ เป็นต้น ส่วนล่างของฉากจะเขียนเป็นกำแพเมือง มีใบเสมาสูงประมาณ 1 ศอก ผู้รับโรง 2 ประตู ด้านในอีก 2 ประตู เป็นประตูสำหรับหุ่นเข้าออก ส่วนใหญ่จะใช้แต่ประตูใน หากเป็นการยกทัพมีคนมากก็จะใช้ประตูนอก
เรื่องที่ใช้ในการแสดง โดยมากจะแสดงเรื่องพระอภัยมณี ลักษณวงศ์ สุวรรณหงส์ ไชยเชษฐ์ ไกรทอง ขุนข้าง-ขุนแผน วงษ์สวรรค์-จันทวาส พระปิ่นทอง (แก้วหน้าม้า) โกมินทร์ มาลัยทอง เป็นต้น ในการเล่นตลกนี้ บางครั้งก็ออกเป็นลำตัด เพลงฉ่อย อีแซว ทะแยมอญ บันตน หรือออกเพลงสิบสองภาษา หรือพูดสัปดนสองง่ามสองแง่
นอกจากมีดนตรีประกอบแล้วยังมีเครื่องเล่นประกอบเพื่อความสนุกสนาน เช่น ดอกไม้ไฟ ประทัด ลูกหนู ตะไล นกกระจิบ นกกระจอก ตลอดจนการชักรอกเหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเนรมิตกายให้เป็นตัวใหญ่ตัวเล็ก ทำอิทธิฤทธิ์ให้พิสดารต่างๆ เหล่านี้ หุ่นสามารถทำได้สนิทแนบเนียน เข้ากับสภาพความเป็นหุ่นได้ดี
การพากย์หุ่น ผู้เชิดต้องร้องเพลงหุ่นเอง และพูดเจรจาบทพาทย์ต่างๆ บางทีก็ใช้ผู้หญิงพากย์แทนผู้เชิดที่เป็นชายก็มี และในการพากย์ การร้อง ต้องมีคนบอกบทคอยตะโกนบอกทั้งผู้เชิดและนักดนตรีเพื่อแสดงให้สอดคล้องกัน
โอกาสที่เล่น การแสดงหุ่นกระบอกนั้น เดิมจะมีแสดงในงานสมโภช งานนักขัตฤกษ์ต่างๆ หรืองานพระศพเจ้านาย ซึ่งมีการแสดงได้แก่ โขนละคร หุ่น หนังใหญ่
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
หุ่นกระบอกเกิดขึ้นทางเมืองเหนือในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย "นายเหน่ง คนขี้ยา อาศัยวัด อยู่เมืองสุโขทัย" เป็นผู้ดัดแปลงหุ่นไหหลำ เป็นหุ่นไทยและออกเชิดร้องเล่นหากิน ได้รับความนิยมอยู่แถบทางเมืองเหนือนั้น นายเหน่งเป็นคนนครสวรรค์ อยู่หมู่บ้านบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ มีชื่อจริงว่านายรื่น เป็นช่างฝีมือดี ทางแกะสลัก แกะหน้าบัน แต่หลบหนีอาญาเมืองลงไปทางใต้ ด้วยมีผู้ว่าจ้างให้แกะพิมพ์เหรียญเงินปลอม และได้ไปเห็นการแสดงหุ่นไหหลำที่ทางใต้นี้ จึงคิดแกะหัวหุ่นขึ้นเป็นหุ่นไทย และทำตัวหุ่นเลียนแบบหุ่นจีนไหหลำ ในตอนแรกหัวหุ่นแกะด้วยมันเทศ พอหัวหุ่นเน่าเสียก็แกะขึ้นเล่นใหม่ได้ทันที ด้วยนายรื่นเป็นช่างแกะมีฝีมืออยู่แล้ว เมื่อขึ้นมาอยู่สุโขทัย จึงได้ใช้ ชื่อว่านายเหน่ง ด้วยเป็นคนศีรษะล้าน แต่ไม่ได้เป็นคนติดยา หรือขี้ยาตามที่เข้าใจกัน
ต่อมา หม่อมราชวงศ์เถาะ มหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เคยได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจหัวเมืองเหนือ ได้ไปเห็นหุ่นกระบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ และได้กลับมาสร้างหุ่น ตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นเป็นคณะแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2436 สันนิษฐานว่าหุ่นกระบอกน่าจะเล่นกันมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เรียกว่า "หุ่นลาว" เพราะแต่ก่อนไทยภาคกลางเรียกหัวเมืองทางเหนือว่า "ลาว" ทั้งสิ้น
แต่แรกเมื่อหม่อมราชวงศ์เถาะตั้งคณะหุ่นกระบอก ขึ้นในกรุงเทพฯ คำว่า "หุ่นกระบอก" อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักนิยมเรียกกัน ครั้นหม่อมราชวงศ์เถาะตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้น ออกเล่นรับงานจนเป็นที่นิยมของคนกรุงเทพฯ เรียกกันติดปาก ว่าหุ่นคุณเถาะ จึงทำให้เกิดหุ่นกระบอกคณะต่างๆ ขึ้นในสมัยเดียวกันและสมัยต่อมาอีกหลายคณะ
โอกาสการแสดงหุ่นกระบอก ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์หุ่นกระบอกมักแสดงในงานพระเมรุหรืองานศพ งานสมโภชหรืองานมงคลต่างๆ หุ่นกระบอกสมัยแรกๆ มีผู้ว่าจ้างให้ไปเล่นในบ่อนเพื่อดึงให้คนเข้าบ่อน
อย่างไรก็ตาม หุ่นกระบอกเป็นการเล่นที่หมดลงในชั่วอายุของคน เมื่อเจ้าของคณะหรือ "ตั้วโผ" หุ่นและคนเชิดหุ่นซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อยสิ้นอายุลง การแสดงหุ่นกระบอก ซึ่งเคยเป็นที่นิยมกันมากในสมัยหนึ่งก็เสื่อมสิ้นลงไปตามกาล ในปัจจุบันจึงเหลือหุ่นกระบอกอยู่เพียงไม่กี่คณะเท่านั้นที่ยังคงออกเล่นรับงาน ซึ่งโอกาสที่จะแสดงก็น้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก จนหุ่นกระบอกกลายเป็นมหรสพที่หาดูได้ยากในสมัยนี้
หมายเหตุ
ภาพจาก https://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=32&chap=2&page=t32-2-detail.html