คำอธิบาย
ไก่กระป๋องเป็นของเล่นที่ผู้เล่นสามารถประดิษฐ์เองได้ ใช้เวลาไม่นาน ได้เรียนรู้และเลียนแบบเสียงสัตว์
ประโยชน์การเล่นไก่กระป๋อง
ด้านร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือและมือ สายตาที่ต้องสอดประสานกับมือดึงเชือกอย่างไรให้เกิดเสียง
ด้านจิตใจ เมื่อทำได้จะสนุกและภูมิใจที่ทำให้ไก่ร้อง
ด้านปัญญา เรียนรู้ว่าเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของเชือกที่ถูกขัดถู ในขณะประดิษฐ์จะเรียนรู้ขั้นตอนการทำไก่กระป๋อง ฝึกความชำนาญการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียน รวมถึงการตกแต่งออกแบบไก่ เรียนรู้เสียงสัตว์ และการเลียนแบบเสียงสัตว์
ด้านสังคม ชวนกันเล่นเป็นฝูงไก่ หากทำเป็นแล้วสามารถสอนคนอื่นๆ ได้
วิธีทำ
นำแก้วกระดาษ/แก้วพลาสติก (หากใช้กระป๋องนมข้นให้เปิดฝาเลาะเอาคมออกให้หมด) ต่อไปเจาะรูเล็กๆ ที่ก้นแก้ว นำปลายเชือกปอ/เชือกว่าว/เชือกฝ้าย ข้างหนึ่งผูกเศษไม้/คลิปกระดาษ และนำปลายเชือกอีกด้านสอดเข้าไปในรู จากด้านบนแก้วทะลุเข้ามาข้างใน ดึงเชือกให้สุดจนไม้หรือคลิปจนติดรู
วิธีเล่น
ใช้ผ้า/ทิชชู่/ฟองน้ำเอนกประสงค์/ผ้า ที่ชุบน้ำบิดให้หมาดๆ หรือจะใช้นิ้วก็ได้มาจับเชือกแล้วรูดลง จะเกิดเป็นเสียง “ป๊อก” ยาวๆ
ลองเปลี่ยนเชือกเป็นวัสดุอย่างอื่น หรือเชือกชนิดต่างกันจะทำให้เสียงออกมาเป็นอย่างไร วัสดุแบบไหนจะดังกว่าหรือเบากว่า ลองเปลี่ยนขนาดของแก้วแล้วสังเกตเสียงที่ดังออกมา หรือลองเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ถูไปมา
หมายเหตุ
บ้านพิพิธภัณฑ์ได้บันทึกถึงยามที่คุณธงชัย คูสุวรรณ ชาวลำปาง สาธิตวิธีทำไก่กระป๋องและเล่าให้ฟังว่าเมื่อรูดเชือกลงจะเกิดเป็นเสียง “ป๊อก” ยาวๆ ไก่กระป๋องทำได้เฉพาะเสียงไก่ตัวเมียเวลาไก่ตัวเมียมันจะออกไข่มันจะร้องป๊อกยาวๆ หนึ่งครั้งแล้วก็ป๊อกสั้นๆ ห้าหกครั้ง “ป๊อกกกกกกกก...ป๊อก ป๊อก ป๊อก ป๊อก ป๊อก ป๊อกกกกกกกก...” จะต่างจากเวลาหิว ซึ่งมันจะร้อง ป๊อก ป๊อก เฉยๆ แต่สำหรับเสียงไก่ฝรั่งจะร้อง BWACK BWACK BWACK BWAAAAAAAAAACK และส่วนใหญ่เด็กๆ ที่อยู่ประเทศที่มีวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) จะได้ทดลองประดิษฐ์ไก่กระป๋องกันตั้งแต่เล็กๆ ถือเป็นการสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์ไปพร้อมกับการฉลองวันสำคัญ