ลูกโป่งยางละหุ่ง



คำอธิบาย
ของเล่นจากธรรมชาติที่หาเล่นได้ตามริมรั้วบ้าน ละหุ่งเป็นไม้พุ่มนิยมปลูกทำเป็นแนวรั้วเพราะขึ้นง่าย แต่ในพื้นที่เมืองอาจมีโอกาสพบต้นละหุ่งน้อยมาก
 
ประโยชน์ของการเล่นลูกโป่งยางละหุ่ง
ด้านร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กต้องควบคุมบ่วงขณะจุ่มน้ำยางและนำมาเป่าเวลาเป่าต้องควบคุมการปล่อยลมเป็นการบริหารปอด เป่าจังหวะสั้นๆ เร็วๆ ช้าๆ มีผลต่อรูปร่างของฟองสบู่ที่ออกมา ตอนลูกโป่งลอยออกมา สายตา ขาและแขนจะทำงานประสานกันอัตโนมัติในการวิ่งไล่จับลูกโป่งอย่างอิสระ
ด้านจิตใจ น้ำยางมีสารเคมีทำให้ลูกโป่งเป็นสายรุ้งเมื่อกระทบกับแสงแดด การรอคอยลูกโป่งสีรุ้งที่เราเป่าออกมาเองทำให้คนเป่าสุขใจ
ด้านปัญญา การเตรียมอุปกรณ์ต้องช่างสังเกตเสาะหาวัสดุที่เมื่อนำมาขดแล้วเป็นทรงบ่วง เรียนรู้สัมผัสและลักษณะของยางจากต้นละหุ่ง รวมถึงสามารถศึกษาเพิ่มเติมเรื่องเคมีในยาง ว่าแตกต่างกับน้ำยาที่ทำให้เกิดฟองอย่างไร
ด้านสังคม คนเป่าสุขใจ คนรอเล่นลูกโป่งก็ลุ้นว่าจะใหญ่แค่ไหน จะแตกง่ายไหม
 
 
วิธีทำ
เตรียมบ่วงไว้สำหรับเป็นไม้เป่าลูกโป่ง บ่วงทำจากต้นดอกหญ้าหรือรกมะพร้าว(เยื่อหุ้มก้านสีน้ำตาลเป็นแผ่นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างต้นและใบ) หรือวัสดุที่ขดและอยู่ตัวอย่างลวดก็ได้ ขดให้เป็นบ่วงกลามขนาดเท่าเหรียญบาท เตรียมน้ำยางโดยการเด็ดใบหรือกรีดต้นละหุ่ง หาภาชนะหรือจะใช้ใบละหุ่งห่อเป็นกรวย รองเอาน้ำยางสีขาวที่ออกมาให้ได้ปริมาณพอจุ่มบ่วงมิด
 
 
วิธีเล่น
จุ่มบ่วงลงในยางให้ท่วม แล้วยกขึ้นมาค่อยๆ เป่า ยางละหุ่งจะยืดและหลุดออกมาเป็นลูกโป่ง ใสเหมือนแก้วสีแววเป็นรุ้ง ลูกโป่งจะไม่แตกง่าย เวลาแห้งจะรัดตัวฝ่อลง ไม่แตกหรือระเหยหายไป
 
 
หมายเหตุ
ละหุ่งเป็นไม้พุ่ม ขอบใบหยักลักษณะคล้ายฝ่ามือ มี 6-11 แฉก ใบกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร น้ำมันของละหุ่งใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ รวมทั้งยาขี้ผึ้งน้ำมันละหุ่งที่สกัดแล้วใช้ทาแก้ผิวหนังอักเสบ ลำต้นใช้ผลิตกระดาษได้ การปลูกต้นละหุ่งเป็นแนวรอบสวนไร่นาสามารถช่วยป้องกันหรือขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ ชาวอีสานนำเมล็ดละหุ่งมาตำบด แล้วคลุกผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู่ ก่อนใช้ทารอบตัวเพื่อป้องกันพิษจากหอยคันหรือป้องกันผื่นแพ้จากสาหร่ายเมื่อลงทอดแหหรือจับปลา