คำอธิบาย
กระโดดเชือกเป็นกิจกรรมที่เล่นกันทั่วโลกและยังพัฒนาให้มีรูปแบบซับซ้อน การกระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายช่วยพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและยังเป็นการออกกำลังกายที่ก่อให้เกิดแรงกระแทกต่ำ จึงเป็นที่นิยมทั้งในหมู่เด็กๆ และผู้ใหญ่ สามารถเล่นได้ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีท่าทางและชื่อเรียกการกระโดดเชือกทั้งแบบเดียวและแบบหมู่
ประโยชน์ของการเล่นกระโดดเชือก
ด้านร่างกาย บริหารร่างกายทั้งตัว ช่วยให้ระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานดี ฝึกการทรงตัว เพิ่มความกระฉับกระเฉงคล่องว่องไว การทำงานของกล้ามเนื้อจะผสานกับการกรอกสายตาพร้อมการกะจังหวะที่ดี
ด้านจิตใจ เสริมสร้างสมาธิขณะเล่น หากทำได้ดั่งเป้าหมายคือกระโดดได้อย่างเท้าไม่ติดเชือกจะพาใจให้เบิกบาน และหลังจากร่างกายขับถ่ายเหงื่อออกมาเซลล์ต่างๆ ตื่นตัวทำให้เรารู้สึกสดชื่น
ด้านปัญญา แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยการศึกษาจากความผิดพลาดครั้งก่อน พบเทคนิคในการกระโดดให้จังหวะสม่ำเสมอสอดประสานกับการสะบัดข้อมือ ส่งผลให้เมื่อเกิดปัญหาในอนาคตสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาใช้แก้ปัญหาได้ ฝึกด้านภาษาเนื่องจากบางพื้นที่มีเพลงร้องประกอบการเล่น อาทิ ในประเทศไทยจะร้องว่า
โกสะ โกโก้สะ ปีนี้มีอายุกี่ปี โป๊ะ
หรือ โอเผี่ยว โจโจ้เผี่ยว ปีนี้มีอายุกี่ปี โป๊ะ
หรือ โอเผี่ยว ซันโต๊เตี่ยว ชีวิโน วิโกโห้
ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะร้องว่า
Birdie, birdie in the sky,
Why’d ya do that in my eye?
Birdie, birdie in the sky,
Gee, I’m glad that cows don’t fly.
ด้านสังคม เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เคารพกติกาและยอมรับสิทธิตามกฎที่ตั้งไว้
วิธีเล่น
การกระโดดเชือกแบ่งเป็น 2 แบบ คือ กระโดดเชือกเดี่ยว และกระโดดเชือกคู่
กระโดดเชือกเดี่ยว หมายถึง ผู้เล่นจะมีคนเดียวหรือมากกว่า เชือกยาวขนาดพอตัวผู้เล่นจับปลายเชือกทั้งสองข้างแกว่งไปข้างหน้า กระโดดข้ามทีเดียว 2 ขา หรือทีละขาก็ได้ หรือจะแกว่งย้อนหลังก็ได้
การวางท่าในการกระโดดเชือกคนเดียว ระหว่างกระโดดให้เปิดส้นเท้า ใช้ปลายเท้ารับนน้ำหนัก งอเข่าเล็กน้อยเพื่อให้ข้อเข่าและข้อเท้าทำหน้าที่รับแรงกระแทก การหมุนเชือกใช้เพียงข้อมือเท่านั้นข้อศอกแนบลำตัว ไม่กางแขนออกหรือใช้หัวไหล่ช่วยหมุน
ท่าเล่นแบบกระโดดเชือกเดี่ยวคนเดียว อาทิ
ท่า Basic Single Under กระโดดขึ้นไปตรงๆ หมุนเชือกด้วยข้อมือ
ท่า Off Step กระโดดขึ้นไปตรงๆ ยกขาขึ้นหนึ่งข้างตลอดเวลาหมุนเชือก
ท่า Boxer Step กระโดดย้ายตัวไปทางซ้ายทีขวาที เวลาหมุนเชือก
ท่า Side To Side กระโดดแบสไลด์ตัวไปทางซ้ายและขวา
ท่า Front To Back กระโดดไปมาหน้าหลังตอนหมุนเชือก
ท่า Sprints กระโดดยกขาสลับไปมาด้วยความเร็ว
ท่า Cross Step กระโดดขาไขว้กันเป็นตัว X
ท่า Double Cross Step กระโดดขาไขว้กันเป็นตัว X ต่อการหมุนเชือก 2 รอบ
ท่า Plyo Cross Step กระโดดขาไขว้กันเป็นตัว X แบบเร็วๆ
ท่า Side Straddle กระโดดแยกขาเข้าออกไปด้านข้าง
ท่า Diagonal Straddle กระโดดแยกขาไปมาเป็นตัว X
ท่า High Knees กระโดดยกขาสูงหนึ่งข้างสลับไปมา
ท่า Butt Kicks กระโดดปล่อยขาไปด้านหลังสลับไปมา
ท่า Heel To Toe กระโดดแบบใช้ฝ่าเท้าและส้นเท้าแตะพื้นสลับไปมา
ท่า Twisters กระโดดบิดช่วงล่างสลับไปมา
ท่า Criss-Cross กระโดดทำเชือกเป็นตัว X
ท่านั่ง Bum Skip ใช้มือหมุนเชือกเลี่ยพื้นโดยใช้ก้นกระโดดหลบเชือก
ท่าเล่นแบบกระโดดเชือกเดี่ยวหลายคน
ท่า Partner Jumping ผู้เล่นจะยืนหันหน้าเข้าหากัน หรือหันหน้าไปทางเดียวกัน หรือหันหน้าคนละทาง หรือยืนแบบขนานกันก็ได้ แล้วแกว่งเชือกกระโดดพร้อมกัน
ท่า Helicopter ใช้เชือกที่ยาวหน่อย คนที่ถือเชือกจะมีคนเดียวยืนถือเชือกยกมือเหนือหัวแล้วแกว่งเชือกไปรอบๆ ให้ปลายเชือกรากพื้นเพื่อให้ผู้เล่นกระโดดหลบได้
กระโดดเชือกคู่ หมายถึง ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน ใช้เชือกยาวขนาดพอสมควร 2 คนจับปลายเชือกทั้งสองแกว่ง ส่วนวิธีการเล่นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ถ้าสะดุดเชือกถือว่าตาย ต้องออกให้ผู้แกว่งกระโดดแทน ท่าเล่นแบบกระโดดเชือกคู่ อาทิ
ท่างู เป็นท่าปรับให้เหมาะกับเด็กเล็กจะเล่นกี่คนพร้อมกันก็ได้ เอาเชือกระนาบไว้กับพื้นแล้วคนแกว่งสองฝั่งก็ขยับข้อมือให้เชือกสะบัดคล้ายงูเลื้อยอยู่ที่พื้น
ท่า Banana Split ผู้กระโดดคนแรกเริ่มก่อน จากนั้นผู้เล่นอีกคนหาจังหวะกระโดดเข้ามาในเชือกแล้วกระโดดไปพร้อมกัน
ท่า Stack-Up คล้ายเล่น Banana Split แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น จนกว่าจะเต็มตามโค้งเชือก
ท่า Cat and Mouse อย่างน้อยผู้เล่น 4 คน สองคนเป็นผู้แกว่งเชือก อีกสองคนจะเป็นคนเล่น แทนตัวว่าเป็นหนูและแมว ให้หนูวิ่งไปก่อนเข้าเชือกก่อน แล้วตามด้วยแมวแต่ทิศทางให้วิ่งเป็นเลขแปดและวนหลังผู้ถือเชือก หากแมวจับหนูได้ทันถือว่าชนะ แต่หากทั้งแมวและหนูกระโดดไม่ผ่านเชือกถือว่าแพ้
เล่นแบบอิสระ
ท่า Water Splash ผู้กระโดดถือกระบอกหรือภาชนะใส่น้ำ แล้วกระโดด อาจตั้งกติกาจำนวนครั้งในการกระโดด แล้วมาดูว่าน้ำใครยังเหลือเยอะจะเป็นฝ่ายชนะ
มีการแข่งขันระดับท้องถิ่นและนานาชาติมีทั้งแบบกระโดดเดี่ยว กระโดดเป็นกลุ่ม double-dutch (กระโดดเชือก 2 เส้น) หรือ freestyle อาทิ กระโดดขาข้างเดียว หรือการแข่งวิ่งกระโดดเชือก Jump Rope Relay ใครเข้าเส้นชัยก่อนชนะ