ลูกลม



คำอธิบาย
ลูกลมเป็นทั้งของเล่นและเครื่องมือไล่นก การทำงานคล้ายกังหันคือใช้ลมเป็นตัวขับคลื่อน ลูกลมมีเสียงดังก้อง ดังไปไกลถึง 3 กิโลเมตร เพราะลูกร้องที่ติดไว้สองข้างเปรียบเสือนลิ้น เมื่อตัวกังหันแกว่งด้วยแรงลม ปากลูกร้องกระทบกับแรงลม จึงทำให้เกิดเสียงดังยิ่งลมพัดแรงตัวกังหันแกว่งเร็ว ทำให้เกิดเสียงแหลมต่อเนื่องเรียกกันว่า “ลิ้นลมเอ่ย” คล้ายการเอ่ยบทร้องของหนังตะลุง จึงเป็นที่มาของชื่อ ส่วนใหญ่ลูกลมจะพบได้ทางใต้ เดิมมักติดตั้งลูกลมไว้บนยอดไม้ที่มีลำต้นสูงและแข็งแรง ใกล้ศาลาพัก เพื่อให้ผู้พักได้พักทั้งกายและและใจ ได้ฟังเสียงลูกลมชื่นอุรา เอาไว้ไล่นกไล่กาตอนทำนา นอกจากนี้ยังช่วยบอกทิศทางลมด้วย
ขั้นตอนการทำลูกลมส่วนที่สำคัญคือการทดสอบ ก่อนนำลูกลมไปทง(ปัก) ช่างลูกลมต้องทดสอบก่อน ถ้าเป็นลูกลมขนาดเล็ก จะให้เด็กชายวัยรุ่นพาวิ่ง โดยจับคันเลาเอาไว้ นายช่างฟังเสียงดู ถ้าเสียงยังไม่กลมกลืน นำมาพอกชันอุง(ขี้ผึ้งชันโรง) ที่ปากลูกร้องใหม่ นำไปวิ่งทดลองเสียง จนเป็นที่ถูกใจ ส่วนลูกลมขนาดใหญ่ ถือนำวิ่งไม่ได้ ต้องทง(ปัก) ไว้กับต้นไม้เตี้ยๆ ก่อน อาจต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ แน่ใจว่าไม่ผิดพลาดแล้ว จึงนำไปปักบนต้นไม้สูงๆ ได้
การปักลูกลมขนาดใหญ่ ต้องมีพิธีรีตอง บอกชาวบ้าน เพื่อนฝูงมาร่วมนับร้อย นิมนต์พระภิกษุอย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารเพล รับศีลรับพร ประพรมน้ำพุทธมนต์ และมีหลวงพ่อที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านทำพิธีเจิมลูกลมด้วย เพื่อป้องกันฟ้าผ่าและเป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มาร่วมถัดจากนั้นชายฉกรรจ์ของหมู่บ้านช่วยกันติดตั้งบนต้นไม้ที่กำหนดไว้แล้วร่วมกันรับประทานอาหาร ฟังเสียงดังลูกลมไปด้วย
 
ประโยชน์ของการเล่นลูกลม
ด้านร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการจับเสาลูกลมและวิ่งออกไปให้ลมปะทะลูกลมยิ่งวิ่งเร็วยิ่งเสียงดัง
ด้านจิตใจ ถ้าวิ่งเร็วหรือลมแรงตัวลูกลมจะเสียงดังเกิดความสนุก
ด้านปัญญา เรียนรู้ทิศทางลมจากการสังกตหัวลูกลมจะให้ไปทางลมและหางไก่จะชี้ลู่ลม สามารถทดลองทำลูกลมหรือกังหันในแบบของตัวเองได้โดยใช้องค์กอบของลูกลมเป็นต้นแบบ หากวิ่งไปพร้อมลูกลมแล้วเสียงยังไม่ดี ให้กลับมาแก้ไขโดยใช้ขึ้ผึ้งชันโรงอุดปรับแต่งที่ปลายลูกลม เกิดการเรียนรู้เทคนิคในการทำให้เกิดเสียงดังและดี เรียนรู้ด้านภาษาเพราะลูกลมมีส่วนประกอบแต่ละชิ้นมีชื่อเรียกและหน้าที่ต่างกัน
ด้านสังคม ปัจจุบันการใช้ลูกลมกลายเป็นกิจกรรมแข่งขันประจำปีของจังหวัดตรัง โดยวัดกันที่น้ำเสียงของลูกลมว่าของใครดัง ไพเราะและสัดส่วนรูปทรงสวยงามช่วงเดือนกุมภาพันธ์หลังจากฤดูเก็บเกี่ยว
ภาพประกอบ
ลูกลมพลิ้วล่อลม 
 
วิธีทำ
ส่วนประกอบของลูกลม
1. ตัวลูกลม มีขนาดต่างๆ เช่น กว้าง 3 นิ้ว 3 ศอก กว้าง 4 นิ้ว ยาว 3 ศอก กว้าง 5 นิ้ว ยาว 4 ศอก กว้าง 6 นิ้ว ยาว 5 ศอก และกว้าง 10 นิ้ว ยาว 8 ศอก นับเป็นลูกลมขนาดใหญ่ ตัวลูกลมนิยมทำด้วยไม้แคนา เนื้อเหนียวน้ำหนักเบา ทำให้เป็นรูปทางได้ง่าย เลือกจากไม้แคที่ลำต้นตรง ปราศจากตาแตกกิ่ง โคนผึ่งแดดไว้ประมาณ 2 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย ช่วยให้เนื้อไม้ยึดกันแน่นไม่แตกง่ายเครื่องมือในการทำสมัยโน้นมีขวานถาก มีดตอก และขวานถากมือเดียว รูปคล้ายสิ่วแต่โตกว่า ถากโกลนด้วยขวานถากพอเป็นรูปร่างก่อน แล้วแต่งด้วยขวานถากมือเดียวและมีดตอก ตัวลูกลิมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลางตรงศูนย์ถ่วง ให้มีความหนากว่าหัวท้ายประมาณ 1 กระเบียด เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพื่อสอดใส่กระบอกเหรี่ยหรือเรี้ยถัดออกไป 2 ข้าง ข้างละ 1 ส่วน ถากให้พริ้วไปทางซ้ายข้างหนึ่ง ถากให้พลิ้วไปทางขวาข้างหนึ่ง ให้มีความหนาเท่ากันโดยตลอด ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ถ้าหน้าลูกลมเป็นเส้นตรง ลูกลมจะไม่แกว่ง ด้านหังถากเป็นรูปโค้งเล็กน้อย คล้ายใบพัดเครื่องบินปลาย 2 ข้างหยักไว้ และเจาะรูข้างละ 2 คู่ สำหรับผูกลูกร้องและลูกเหวย
2.หลอดเรี้ย ทำด้วยไผ่สีสุก เลือกลำที่แก่จัด มีรูได้ขนาดพอเหมาะกับขนาดของตัวลิ้นลม ด้านหนึ่งบากเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อสอดเข้าตรงศูนย์ถ่วงของลูกลม ด้ามหนี่งไม่เกลาผิว รอบในทาด้วยขี้ผึ้งให้มีความลื่น เมื่อเสียดสีกับแสนของคันเลา ไม่ร้อนจัดเกินไป
3. ลูกร้อง ทำด้วยไผ่สีสุก ถ้าเป็นลูกลมขนาดเล็กใช้ไผ่หลอดหรือไผ่รวกก็ได้ ข้างหนึ่งไว้ข้อเกลาส่วนผิวออกไม่หนาไม่บางเกินไป จึงจะช่วยให้เกิดเสียงนุ่มนวลไพเราะ ข้างหนึ่งตัดเป็นรูปปากฉลามตัดจากปลายสุดมาประมาณครึ่งนิ้ว ติดชันอุง (ชันผสมกับขี้อุง) ช่วยให้เกิดเสียงดังไพเราะ ความยาวของลูกร้อง เมื่อผูกกับส่วนปลายของลูกลมแล้ว ให้เหลือความยาวข้างละ 2 นิ้ว ถ้าความกว้างของลูกลม 4 นิ้ว ลูกร้องยาว 6 นิ้ว ผูกด้วยหวาย ให้ปากลูกร้องกลับกัน
4. ลูกเหวย ทำอย่างเดียวกับลูกร้อง สั้นกว่า เล็กกว่า ไม่พอกชันอุง ผูกติดกับลูกร้องริมนอกปากกลับกัน เมื่อลิ้นลมแกว่ง จะมีเสียงดัง “เหวยๆๆ” จึงเรียกว่าลูกเหวย ลูกลมขนาดเล็กไม่นิยมติดลูกเหวย
5. เส้า ทำด้วยไผ่สีสุก แก่จัด ลำต้นตรง ปลายสุดตัดเสมอ ไว้ข้อเพื่อสอดใส่ในกระบอกเวียน ลูกลมขนาดใหญ่เพียงแต่เส้นอันเดียว รับน้ำหนักและต้านแรงลมไม่ได้ ต้องใช้ไม้ไผ่มาช่วยอีก 3 ลำ ผูกปลายไผ่ทั้ง 3 ติดกับเส้าใต้กระบอกเวียน ผูกอย่างมั่งคงเป็น 3 เปลาะ แล้วแยกออกเป็น 3 ขาผูกครึ่งกับกิ่งไม้
6. กระบอกเวียน ทำจากไผ่สีสุก เลือกลำที่แก่จัดหนาปล้องยาว ตัดข้อหัวท้ายออก ไว้ข้อตรงกลาง ส่วนล่างสวมลงบนปลายสุดของเส้า รัดด้วยเชือกหวายกันแตกร้าว เหนือข้อเจาะรูสอดคันเลาเพื่อติดตัวลูกลมและหางไก่
7. คันเลา ทำจากไม้ที่เหนียวและแข็งแรง สอดเข้าเหนือข้อของกระบอกเวียน ข้างหน้าติดลูกลม มีหลักดักหัวไม้และหลังรับหลอดเรี้ย คันเลาปล่อยยาวไปด้านหลัง เพื่อติดหางไก่
8. หางไก่ ทำด้วยทางหวายน้ำ วางซ้อนกันอย่างน้อย 3 ทาง ผูกตรึงกับคันเลา หางไก่ช่วยให้กระบอกเวียนหมุนไปรอบแกนของปลายเส้าตามทิศทางของลม และยังช่วยถ่วงไม่ให้กระบอกเวียนหลุดจากปลายเส้า ปลายหางไก่ผูกพู่ห้อย เพื่อความสวยงาม และบอกให้รู้ว่าลมกำลังพัดจากทิศใด
9. เทียว ลักษณะคล้ายคันทง ติดเหนือกระบอกเวียน โดยสอดโคนคันเทียวลงในกระบอกเวียนส่วนบน ติดเทียวผ้าอย่างน้อย 3 ผืน สีสลับกัน ปลายสุดของคันเทียวใช้ปลือกมะพร้าว (พด) ผูกเป็นรูปดอกไม้ 3 กลีบหรือ 4 กลีบ เพื่อความสวยงาม
 
วิธีเล่น
ลูกลมส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่จะเอาไปปักดิน เริ่มจากขุดหลุมและปักเสาไม้ไผ่ลูกลม แล้วปล่อยให้ลูกลมปะทะลมเกิดเสียงและพริ้วไหว แต่กลุ่มอนุรักษ์ลูกลมบ้านนาหมื่นศรีได้ทำขนาดเล็กเป็นของเล่น ของฝากและตั้งโชว์ วิธีเล่นคล้ายกังหันจะตั้งไว้นิ่งๆ แล้วให้ลมพัด หรือจะเอามาถือแล้ววิ่งให้ลมปะทะ