คำอธิบาย
การเล่นมะคอนหรือลูกช่วงเป็นการละเล่นระหว่างชายกับหญิง หญิงชายจะอยู่คนละข้าง ผลัดกันเหวี่ยงผลัดกันรับเป็นการเล่นของคนไทยดำ นอกจากผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทำความรู้จักกันแล้ว เด็กๆ จะนำลูกช่วงมาเล่นกันบริเวญลานโล่งหรือที่เรียกว่า ข่วง มีอุปกรณ์เสริมคือ เสาห่วง ผู้เล่นต้องโยนลูกช่วงให้เข้าห่วง ห่วงจะอยู่ปลายเสาลักษณะตั้งขึ้นสูงประมาณตึกสองชั้น
ประโยชน์ของการเล่นลูกช่วง
ด้านร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แขน
ด้านจิตใจ การโยนลูกช่วงเข้าห่วงค่อนข้างยาก หากโยนเข้าจะเสริมสร้างพลังใจสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง หากยังโยนไม่เข้าจะเป็นการท้าทายตนเองและสร้างความอดทนให้ทำสำเร็จ
ด้านปัญญา เรียนรู้แรงแกว่งและแรงเหวี่ยงที่สัมพันธ์กับน้ำหนักของลูกช่วง การคาดคะเนจังหวะใดที่เหมาะกับการพร้อมปล่อยลูกโยน
ด้านสังคม ยอมรับในความสามารถของผู้อื่นที่โยนเข้าห่วง
วิธีทำ
การทำมะคอนเริ่มจากนำเศษผ้าขนาด 4x4 นิ้ว 2 ชิ้น เย็บให้ติดกัน เอาตะเข็บเข้าข้างใน แล้วนำเมล็ดมะขาม เม็ดนุ่นหรือเมล็ดพืชอื่นๆ บรรจุลงไปภายในแล้วเย็บให้มิดชิด นำเชือกหรือเศษผ้ายาวสัก 1 เมตร มาเย็บติดลงไปที่กึ่งกลางห่อด้านบนเพื่อไว้สำหรับหิ้วแล้วแกว่งให้หมุนก่อนที่จะโยน มะคอนที่ 4 มุมของมะคอน ตกแต่งให้สวยงามโดยใช้เศษผ้าเป็นเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 1 คืบมาเย็บติดมุมละ 3-4 เส้น เพื่อให้มะคอนดูสะบัดพริ้วเวลาโยนขึ้นในอากาศ
วิธีเล่น
ให้ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้เริ่ม จะแบ่งเป็นทีมหรือเล่นแบบเดี่ยวก็ได้ จากนั้นพลัดกันโยนลูกช่วงให้เข้าห่วง ใช้มือจับที่ปลายเชือกแล้วแกว่งลูกช่วงเมื่อรู้สึกถึงน้ำหนักและแรงถ่วงที่คาดว่าน่าจะแรงพอ ให้เหวี่ยงลูกช่วงสูงขึ้นไปเพื่อให้เข้าห่วง
หมายเหตุ
การเล่นมะคอนมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทดำว่า “อิ้นกอน” อิ้นแปลว่าเล่น กอนคือมะคอนหรือลูกช่วง การเล่นมะคอนเป็นการละเล่นระหว่างชายกับหญิง หญิงชายจะอยู่คนละข้าง ผลัดกันเหวี่ยงผลัดกันรับ
มะคอนเป็นห่อผ้ารูปสี่เหลี่ยมคล้ายหมอน มีสายหิ้วแล้วแกว่งเพื่อโยนให้ไปไกลๆ ยังฝั่งตรงข้ามเวลาเล่น ภายในบรรจุด้วยเมล็ดมะขาม เม็ดนุ่นหรือเมล็ดพืชอื่นๆ ขนาด 3x3 นิ้ว
อิ้นกอนกลายมาเป็นประเพณีการละเล่นที่มีทั้งการร้องรำคล้ายขับเสภา หนุ่มๆ มักเดินทางไปเที่ยวเล่นคอนในหมู่บ้านอื่น โดยนิยมเล่นกันตั้งแต่เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำเป็นต้นไป และจะเลิกเล่นก็ต่อเมื่อหมอผีประจำหมู่บ้านกำหนดให้ชาวบ้านเลี้ยงศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน
มะคอนยังถูกนำมาใช้ในพิธีศพของชาวไทดำด้วย โดยจะทำมะคอนใส่ไว้ในโลงศพของผู้ตาย โดยเป็นความเชื่อที่ว่าให้ผู้ตายนำมะคอนไปเล่นที่โลกหน้าด้วย เช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ใส่ในโลงศพ
ปัจจุบันการเล่นคอนตามประเพณีจะจัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงเท่านั้น