คำอธิบาย
ของเล่นตามฤดูกาลช่วงมะม่วงออกผล เมื่อของเล่นพังก็ทำขึ้นใหม่ได้ง่าย
ประโยชน์ของการเล่นไก่มะม่วง
ด้านร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่เวลาแกว่งมะม่วงไปสับคู่ต่อสู้
ด้านจิตใจ เพลิดเพลินสนุกสนาน
ด้านปัญญา เรียนรู้ประดิษฐ์ของเล่นใกล้ตัวจากธรรมชาติ ฝึกสังเกตการใช้แรงและจังหวะผ่อนเพื่อให้ถึงจุดที่ต้องการ ทดลองเปลี่ยนวัตถุดิบจากลูกมะม่วงเป็นอย่างอื่น รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทำเดือยได้ มาลองเล่นเพื่อค้นหาแนวทางการเล่นใหม่ๆ
ด้านสังคม เรียนรู้การเคารพกฎกติกา
วิธีทำ
นำมะม่วงลูกเล็กที่ยังกินไม่ได้ขนาดประมาณนิ้วโป้ง เอาผลมะม่วงมาใส่ไม้ไผ่(ไม้เสียบลูกชิ้น)เพื่อทำเดือยบางคนใช้ตะปูทุบหัว นำมาเจาะรูแล้วร้อยเชือกกล้วยที่ฟั่นไว้เข้าไป
ในการเจาะให้ทะลุมะม่วงบางคนอาจเลือกเจาะด้านที่นูนหรือด้านนอกของมะม่วง บางคนอาจจะใช้ด้านโค้ง แล้วแต่กลวิธีของแต่ละคน เพื่อหาสมดุลให้เกิดน้ำหนักในการแกว่งเดือย ความคิดเห็นของผู้เล่นบางคนอาจรู้สึกว่า ถ้าใช้ด้านนูนเป็นด้านหน้าออกรับคมเดือยของฝ่ายตรงข้าม เวลาถูกเฉือนมะม่วงจะแหว่ง ดูแล้วรู้สึกเป็นบาดแผลของตัวเล่นมันเจ็บปวดยิ่งนัก
วิธีเล่น
แบ่งเป็น 2 ฝ่าย จะเล่นพร้อมกันหรือแข่งทีละคู่ก็ได้ ผลัดกันแกว่งให้เดือยสับมะม่วงของฝ่ายตรงข้าม ตกลงว่าใครจะเป็นคนเล่นก่อน ดึงเชือกให้ตึงไม่หย่อน มีกดเหล็กในการดึงเชือก คือ ห้ามทำหย่อนหรือยานเป็นอันขาด เพราะเดือยจะสับเข้าไม่ลึก ถือว่ามีเจตนาโกง
คนที่จะสับให้หย่อนเชือกของตนเองตาเล็งบริเวณที่จะสับแล้วแกว่งมะม่วงของตนให้หันเดือยออกสับตรงที่เล็ง ส่วนมากจะเล็งกันตรงบริเวณระดับเดียวกันกับที่ร้อยเชือก เพราะถ้าสับตรงนั้นขาดก็จะทำให้คู่ต่อสู้หลุดจากเชือกถือว่าแพ้
สับจนมะม่วงแตก ของใครแตกสามารถซ่อมได้โดยการใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ เย็บให้ติดกันจนกว่าจะซ่อมไม่ไหวและยอมแพ้ไป