ชิงช้า



คำอธิบาย
 
จะเล่นคนเดียว สองคนแล้วผลัดกันเล่นหรือเล่นพร้อมกันหลายๆ คน ขึ้นอยู่กับขนาดของชิงช้า คำนึงถึงความแข็งแรงของวัสดุที่นำมาใช้
 
ประโยชน์การเล่นชิงช้า
ด้านร่างกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อทุกสัดส่วน สร้างสมดุลของร่างกายให้นั่งอยู่บนชิงช้า กำหนดความเร็วโดยการบังคับขาและเท้า
ด้านจิตใจ เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย
ด้านปัญญา เรียนรู้แหล่งกำเนิดแรงเหวี่ยงที่มาจากการแกว่งอวัยวะ ทำอย่างไรให้ชิงช้าสูงขึ้นและหยุดลง ในบางพื้นที่มีเพลงร้องระหว่างเล่น
ด้านสังคม เรียนรู้การแบ่งปันเมื่อชิงช้ามีเพียงอันเดียว
 
วิธีทำ
ชิงช้าส่วนใหญ่มีส่วนประกอบ 2 ชิ้นหลักๆ คือ เชือกและที่นั่ง เชือกจะมีขนาดใหญ่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 14 มม ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของวัตถุที่ใช้ทำที่นั่ง อาทิ ปีกไม้ ไม้ไผ่ ไม้ซาง เหล็ก ผ้า กระสอบใส่ทราย ห่วงยางรถยนต์ เป็นต้น นำเชือกสอดเข้าไปในรูที่นั่ง แต่ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ทำที่นั่งหากเป็นทรงกระบอกใช้เชือกมัดรอบ แล้วผูกปลายเชือกทั้งสองไว้กับต้นไม้หรือคานเรือน หรือจะพาดเชือกไว้ที่คานแล้วห้อยปลายลงมาเจาะรู้ที่นั่งแล้วมัดปมเชือกไว้ใต้ที่นั่ง
 
วิธีเล่น
ขึ้นนั่งบนที่นั่ง สองมือจับเชือก ถอยหลังโดยใช้เท้าถัด แล้วปล่อยให้ชิงช้าแกว่งไปข้างหน้า ใช้เท้าถีบพื้นและใช้ลำตัวแกว่งเพื่อเพิ่มแรงเหวี่ยงให้สูงตามใจต้องการ เมื่อต้องการจะหยุดแกว่ง ให้นั่งนิ่งๆ ไม่ต้องแกว่งขาและตัว ค่อยๆ ใช้เท้าแตะๆ เบรคที่พื้น
 
ในภาคเหนือมีเพลงร้องประกอบการเล่นด้วย ร้องตามจังหวะชิงช้าแกว่งไกว
“สิกจุ่งจา อี่หล้าจุ่งจ๊อย
ขึ้นดอยน้อย ขึ้นดอยหลวง
เก็บผักขี้ขวง ใส่ซ้าทังลุ่ม
เก็บฝักกุ่ม ใส่ช้าทั้งสน
เจ้านายตน มาปะคนหนึ่ง
ตีตึ่งตึง หื้ออย่าสาวฟัง
ควักขี้ดัง หื้ออย่าสาวจูบ
แปงตูบน้อย หื้ออย่าสาวนอน
ขี้ผองขอน หื้ออย่าสาวไหว้
ร้อยดอกไม้ หื้ออย่าสาวเหน็บ
จักเข็บขบหู ผูหนีบข้าง
ช้างไล่แทง แมงแกงขบเขี้ยว
เงี้ยวไล่แทง ตกขุมแมงดิน
ตีฆ้องโม่งๆ”
 
ความหมายของบทร้อง ลูกสาวน้อยควรจะร้องเพลงไม่ว่าลูกจะไปที่ใดก็ตาม สิ่งที่อยู่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินควรเก็บไว้ข้างล่าง สิ่งที่อยู่สูงควรวางไว้ข้างบน มีเจ้านายคนหนึ่งมาพบ คนธรรมดาคนหนึ่งเขาเล้าโลมให้หญิงสาวคนธรรมดานั้นหลงใหล แล้วยื่นความรักที่เป็นกากเดนแก่สาวนั้น สร้างกระท่อมหลังเล็กๆ ให้อยู่ ให้สาวเคารพบูชาความเลวของเขา ให้สาวแต่สิ่งที่เหลือเศษเหลือเดน มันเจ็บปวดยิ่งนัก มันน่ากลัวและน่าหนีให้พ้น อยู่ไปก็เหมือนกับตกขุมแมงมัน คนทั่วๆ ไปเขาสมน้ำหน้าและเยาะเย้ย
คำว่า อีหล้า ใช้สำหรับเรียกลูกหญิงคนสุดท้อง ผักขวง หรือ ผักขี้ขวง เป็นผักที่อยู่ติดกับดิน เมื่อต้มหรือแกงให้สุกแล้วมีรสขม ผักกุ่มเป็นไม้พุ่มต้นขนาดกลาง ใช้ยอดทำผักดองกินกับน้ำพริก ตีตึ่งตึง เป็นลักษณะของการเล่นดนตรีกล่อม เช่นกล่อมในงานศพ
ควักขี้ดัง หื้ออย่าสาวจูบ เป็นสำนวน เข้าใจว่าจะมาจากคำพังเพยของลานนาที่ว่า “รักกินหนังรูดัง ชังกินหนังรูขี้” เทียบความหมายได้กับสุนทรภู่ที่ว่า “แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ” ในที่นี้นำมาเป็นสำนวนหมายความว่า เป็นความรักที่ไม่จริงจังอะไรเพราะไม่ได้กินหนังจมูก แต่กินขี้มูกแทน
ร้อยดอกไม้ หื้ออย่าสาวเหน็บ เป็นสำนวนเช่นกัน ตามธรรมดาไม่มีใครร้อยดอกไม้เพื่อใช้เหน็บหรือทัดหูกัน ส่วนมากจะใช้ดอกไม้เป็นช่อหรือดอกโตๆ เท่านั้น การ้อยดอกมาทัดหูแสดงถึงความขัดสน ต้องเอาดอกไม้เล็กๆ เศษๆ มาใช้แทน
เจ็บปวดเหมือนกับตะเข็บกัดหู เห็นจะปวดยิ่งกว่าเอาตรีมาเสียบกรรณ
ปูหนีบสีข้าง คือเหมือนจะถูกหนีบให้ลำตัวขาดออกเป็นสองท่อน
น่ากลัวยิ่งกว่าช้างไล่แทง แมงแกงขัดเขี้ยว ซึ่งบางครั้งมันจะกัดเข้าไปถึงสมอง (คล้ายกับความเชื่อเรื่องแมงคาเรืองของภาคกลาง) หรือ เงี้ยวไล่ฟัน (แต่ก่อนพวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ชอบเข้าปล้นเมือง)
ตกขุมแมงมัน เป็นสำนวนคล้าย ตกถังข้าวสารแต่ตกถังข้าวสารสบายกว่า ถ้าตกหลุมแมงมันแล้วถึงแม้ว่าตัวแมลงมันและไข่มันจะเป็นอาหั้นเลิศ แต่แม่ของแมลงมันจำนวนนับไม่ถ้วนที่มีพิษพอๆ กับมดคันไฟ คงจะกัดเอาคันคะเยอไปทั้งตัวเป็นแน่
ตีฆ้องโม่งๆ เป็นลักษณะของการสมหน้ำหน้าผู้ที่ทำผิด อาจจะมาจากการตีฆ้องแห่คนร้ายประจานชาวบ้านในสมัยก่อนก็ได้ มีสำนวนสั้นๆ สำหรับการสมน้ำหน้าว่า “ชอบโม่งๆ” หรือ “ชอบ” เฉยๆ
เพลงสะท้อนการสอนเด็กผู้หญิงเรื่องความรักให้รักนวลสงวนตัวและอย่ามองคนแต่ภายนอก รวมถึงบอกทัศนคติของชาวบ้านที่ม่ต่อเจ้านายหรือข้าราชการในสมัยนั้น
 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ชิงช้านอกจากเป็นของเล่นขนาดเล็กตามบ้าน แต่ในกรุงเทพมหานครมีชิงช้าขนาดใหญ่อยู่กลางใจเมือง ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เรียกว่า เสาชิงช้า สำหรับทำพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายเป็นพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นการรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์
พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น ‘ต้นพุทรา’ ช่วงระหว่างเสาคือ ‘แม่น้ำ’ นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือ ‘พญานาค’ โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
อีกตำนานหนึ่งเชื่อว่า พระพรหมเมื่อสร้างโลกแล้ว ได้เชิญให้พระอิศวรทดสอบความแข็งแรงของโลก พระอิศวรจึงใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับข้างต้นในการทดสอบ คตินี้สอนเรื่องการไม่ประมาท
พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำภายในเทวสถานเท่านั้น เมื่อเร็วนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี 2327 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี 2549 เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี และกรุงเทพมหานครได้เฉลิมฉลองจัดการสาธิตโล้ชิงช้าหน้าอาคารสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครในปี 2547
นอกจากการโล้ชิงช้าในเมืองหลวงแล้ว ยังมีพิธีโล้ชิงช้าของคนอ่าข่า เรียกว่า ‘แยะขู่ อ่าโผ่ว จาแบ’  จะจัดช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เพราะเดือนพฤษภาคมทำพิธีปลูกข้าว และใช้เวลาประมาณ 109 วัน ข้าวจะตั้งท้อง คนอ่าข่าทำงานมาสี่เดือนเหนื่อยล้า ถึงเวลาพักผ่อนจึงมาโล้ชิงช้ากัน จัดกัน 4 วัน วันแรกไหว้บรรพบุรุษ
วันที่สองตั้งเสาชิงช้า ก่อนโล้ชิงช้าต้องทำพิธีเปิดโดยผู้อาวุโส โดยการใส่ก้อนหิน เครือหนาม หญ้าขน ที่ห่วงสายชิงช้า มีนัยยะถึง มั่งคง ปกป้อง สุขภาพ เพิ่มผลผลิต ใส่ที่เชือกให้เจ้าที่เจ้าทางมาโล้ก่อน
วันที่สามหนุ่มสาวจะมาโล้ชิงช้งกัน ส่วนเด็กๆ จะโล้ชิงช้าอันเล็กอยู่หน้าบ้าน
วันที่สี่คือวันสุดท้าย หากใครในชุมชนยังไม่ได้โล้ชิงช้า จะพากันมาโล้เพื่อเป็นสิริมงคล  
ชิงช้าสร้างปีละครั้งโล้ปีละครั้งห้ามละเมิดทำหลายรอบเชื่อว่าจะบาป คนอ่าข่าจึงใช้พิธีนี้ทบทวนตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม คำเอ่ยที่ร้องออกมาตอนโล้ชิงช้า ‘เออ เลอ ฉ่อ’ โล้จากแผ่นดินสู่ภูมิสวรรค์
ผู้ชายจะยืนโล้โดยการเอาเท้าใส่ไปในห่วงเชือกและโล้ ส่วนผู้หญิงจะนั่งบนไม้