คำอธิบาย
ไม้หึ่ง ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประเภทการเล่นพื้นบ้านพุทธศักราช 2555
อุปกรณ์ในการเล่นมีเพียง 2 ชิ้น คือ ไม้ยาว (ไม้แม่) และไม้สั้น(ไม้ลูก) มีผู้เล่น 2 ฝ่าย ใช้ไม้แม่หึ่งปักปลายลงในหลุมหรือราง งัดลูกหึ่งออกไปให้อีกฝ่ายหนึ่งรับ เมื่อฝ่ายรับรับลูกหึ่งได้ก็จะมาเป็นฝ่ายส่งบ้าง แต่ถ้าฝ่ายรับรับลูกไม่ได้ก็จะต้องวิ่งร้องหึ่งมาที่หลุม ในแต่ละท้องถิ่นมีวิธีการเล่นต่างกัน
ประโยชน์การเล่นไม้หึ่ง
ด้านร่างกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดทุกสัดส่วน สายตาที่ต้องสอดประสานทั้งในการงัดไม้ลูกและรอรับไม้ลูก
ด้านจิตใจ เพลิดเพลิน รู้จักยอมรับเมื่อแพ้และเข้าใจเมื่อชนะ กระตุ้นให้สมองตื่นตัว พร้อมแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าเสริมสร้างไหวพริบ
ด้านปัญญา เรียนรู้การใช้แรงงัดแรงดีดเวลาต้องงัดไม้ลูกให้ฝั่งตรงข้ามรับ เรียนรู้การใช้แรงเหวี่ยงให้เหมาะกับน้ำหนักไม้เพื่อให้ลงหลุมฝั่งตรงข้าม
ด้านสังคม เรียนรู้บทบาทหน้าที่ในทีม และสร้างสมนิสัยการเคารพกติกาเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
วิธีทำ
หาไม้ขนาดพอดีมือกำ 2 ท่อน ยาวประมาณหนึ่งคืบและหนึ่งศอก จะใช้เหลาไม้กิ่งมะขามหรือใช้ไม้ไผ่ก็ได้
วิธีเล่น
แบ่งออกเป็น 2 ข้าง เท่าๆ กัน ตัดสินว่าใครได้เล่นก่อน โดยการเคาะไม้ ใช้มือข้างที่ถนัดถือไม้ยาว(ไม้แม่) แล้วเคาะไม้สั้น(ไม้ลูก) ที่ปล่อยจากมืออีกข้างหนึ่ง ฝ่ายใดเคาะได้จำนวนมากกว่า ฝ่ายนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน
การเล่นมี 3 ไม้ หรือ 3 วิธี เล่นติดต่อกันไป
ไม้แรก เล่นโดยวางไม้สั้นขวางหลุมร่องดินที่ขุดไว้ แล้วผู้เล่นยืนหันหน้าไปทางฝ่ายตรงข้าม ซึ่งยืนห่างออกไปเพื่อคอยรับไม้สั้น จากนั้นผู้เล่นนำไม้ยาวงัดไม้สั้นให้ไกลออกไปยังบริเวณที่ฝ่ายผู้รับยืนอยู่ โดยพยายามงัดให้ไม้สั้นให้ไปไกล จนฝ่ายตรงข้ามรับไม้สั้นไม่ได้ หากฝ่ายตรงข้ามรับไม้สั้นไม่ได้ ฝ่ายที่เป็นผู้เล่นจะได้เล่นไม้ที่ 2 หากฝ่ายตรงข้ามรับไม้สั้นได้ฝ่ายที่เล่นจะต้องวางไม้ยาวบนพื้นขวางหลุมร่องดินไว้ แล้วให้ฝ่ายยตรงข้ามโดยนไม้สั้นให้มากระทบไม้ยาว หากไม้สั้น ไม่กระทบฝ่ายผู้เลนจะได้เล่นไม้ 2 ต่อไป หากโดนไม้สั้นมากระทบไม้ยาว ถือว่าฝ่ายผู้เส่น “ตาย” ฝ่ายผู้เล่นคนนั้นจะต้องหยุดเล่นแล้วค่อยให้คนต่อไปเล่นไม้หนึ่งใหม่
ไม้สอง เล่นโดยผู้เล่นยืนหันหน้าไปยังฝ่ายตรงข้าม มือขวากำปลายบนของไม้ยาว ขณะเดียวกันวางไม้สั้นขวางไม้ยาวบนกำมือลักษณะคล้ายตัว t แล้วโยนกำมือขึ้นให้ไม้สั้นลอยขึ้นไปในอากาศ พร้อมกับใช้ปลายไม้ยาวส่วนล่างตะหวัดตีไม้สั้นออกไปแบบเดียวกับไม้แรก การได้ไปต่อในไม้ที่ 3 หรือไม่ ใช้กติกาเช่นเดียวกับการเล่นไม้แรก
ไม้สาม เล่นโดยให้ผู้เล่นยืนตรงหลุมร่องดิน โดยหันหลังให้กับฝ่ายตรงข้าม มือถนัดจับปลายไม้ยาวไว้ข้างหนึ่ง มืออีกข้างจับไม้สั้นขวางไว้ แล้วใช้ไม้ยาวตีไม้สั้นไปข้างหลังให้หลุดจากมือไปยังฝ่ายตรงข้าม
ผู้เล่นจะทำโทษฝ่ายตรงข้ามโดยจะเลือกคนที่เคาะไม้ได้เก่งที่สุดมาเคาะไม้ สมมติว่าเคาะได้สูงสุด 4 ครั้ง แล้วไม้สั้นจึงร่วงลงพื้น ฝ่ายผู้ชนะจะต้องไปยืนตรงหลุมร่องดิน แล้วตีไม้สั้น
หากฝ่ายผู้เล่นเล่นผ่านได้หมดถือว่าชนะ อีกฝ่ายออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อไม้สั้นใส่มือแล้วผลัดกันวิ่งไปยังหลุมร่องดิน โดยที่ต้องร้องเสียงหึ่มไปตลอด โดยไม่ขาดเสียงจึงถือว่าจบเกมแล้วจึงเริ่มเล่นกันใหม่ หากมีการขาดเสียงช่วงใดก่อนถึงหลุม จะถูกทำโทษเพิ่มขึ้นโดยฝ่ายผู้ชนะจะตีไม้สั้นออกจากจุดที่ขาดเสียงหึ่มให้ไกลออกไปอีก แล้วฝ่ายผู้แพ้จะต้องจัดคน ผลัดกันวิ่งถือไม้สั้นร้องหึ่มมาที่หลุมร่องดิน
การเล่นอาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น
หมายเหตุ
ภาพจาก https://oer.learn.in.th/search_detail/result/219495#/APA