คำอธิบาย
กระดานชนวน กล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นแผ่นแบนสำหรับรองรับการเขียนนั้น ไม่ได้ทำด้วยไม้กระดาน แต่ทำด้วยหินชนิดหนึ่ง เรียกว่าหินชนวน (Slate) หินชนวนจัดเป็นหินแปร (Metamorphic rock) อย่างหนึ่ง ซึ่งมีคำอธิบายในหนังสือเรื่อง หินสำหรับประชาชน ของกรมทรัพยากรธรณี ว่าถึงที่มาของหินชนวนไว้ดังนี้
“ถ้าหินดินดานถูกความร้อนกดดัน ก็จะเหมือนเราปั้นดินเป็นแท่งเป็นชั้นดีแล้วเอาไปเผาเป็นอิฐมันจะแข็งขึ้นประการหนึ่ง และโดยที่ความกดมีอยู่ต่อหินดินดานซึ่งไม่แข็งแรงเท่าใด มันก็จะถูกอัดแน่นและเป็นแผ่นๆ แซะออกได้ หน้าค่อนข้างเรียบ จึงได้ใช้ทำกระดานชนวนกันจนบัดนี้ บางแห่งก็ตัดทำกระเบื้องมุงหลังคา ทำรูปต่างๆ ก็คล้ายกระเบื้องดินเผานั่นเอง เราเรียกหินแปรนี้ว่าหินชนวน (SLATE)”
กระดานชนวนทำขึ้นจากหินชนวนที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบน หน้าเรียบ ตัดเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้ากรอบไม้ กันขอบแผ่นหินปริแตก กระดานชนวนที่เข้ากรอบไม้แล้วมีขนาด 9 x 12 นิ้วโดยประมาณ
กระดานชนวนเป็นอุปกรณ์การเขียนที่มีภายหลังกระดานดำและกระดานโหร ซึ่งทำด้วยไม้กระดานเป็นพื้น ครั้นมีแผ่นหินชนวนเข้ามาให้ใช้อย่างกระดานดำและกระดานโหร ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์สำหรับเขียนทำนองเดียวกัน จึงอนุโลมเรียกแผ่นหินชนวนสำหรับรองเขียนว่า กระดานชนวน และเรียกกันต่อๆ มาเป็นลำดับ
กระดานชนวนแรกมีในเมืองไทยเป็นของนำเข้ามาจากต่างประเทศประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะบนกรอบกระดานชนวนรุ่นเก่าๆ มักมีตัวอักษร MADE IN PORTUGAL และเครื่องหมายการค้า CROWN (รูปตรามงกุฎฝรั่ง) ให้ทราบแหล่งผลิต
กระดานชนวนกลายเป็นสินค้าที่มีใช้แพร่หลายทั่วไป ต่อมาในรัชกาลที่ 6 นักเรียนชั้นมูล ชั้นประถมด้น ก็ได้ใช้กระดานชนวนเป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกหัดเขียนอักษรและเลขแทนสมุดฝรั่ง ซึ่งการใช้กระดานชนวนเป็นการไม่สิ้นเปลือง กระนั้นก็ดีการใช้กระดานชนวนต้องระวังมิให้ตกหล่นลงกับพื้น เพราะจะทำให้กระดานร้าวหรือแตกย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยต้องจัดการซื้อหามาใหม่
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีผู้สั่งกระดานชนวนเข้ามาขายอีกเลย ทั้งนี้เนื่องจากนิยมใช้สมุดกระดาษที่ทำขึ้นในประเทศเป็นอุปกรณ์การเขียนแทน กระดานชนวนซึ่งเป็นอุปกรณ์การเขียนอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจึงสูญหายไปจากแวดวงการศึกษาด้วยประการฉะนี้
ปัจจุบันยังคงมีการทำกระดานชนวนขึ้นมาส่วนใหญ่ใช้ในงานโหราศาสตร์ และนำมาเขียนเล่นย้อนรำลึกถึงความหลากหลายของอุปกรณ์การจดบันทึกในอดีต หากเปรียบเทียบกระดานชนวนที่ใช้กันแต่เดิม แต่ด้วยเทคโนโลยีได้ผลิตแท็บเล็ตซึ่งมักเรียกกันว่าเป็นกระดานชนวนในยุคดิจิทัล
วิธีทำ
“บันทึกของ พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) อดีตมหาดเล็กวิเศษ แห่งกองมหาดเล็กตั้งเครื่อง(เสวย) ในรัชกาลที่ 6 เล่าไว้ว่าการเรียนที่วัดต้องนั่งเรียนแบบนั่งเพียบกับพื้นกระดาน เครื่องเขียนมีกระดานแผ่นเดียว กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ใช้ขูดเอาดินหม้อดำๆ ที่เป็นผงติดอยู่ตามก้นหม้อดินที่ใช้หุงต้มในครัวมาสัก 1 พายมือ เทลงในกะลามะพร้าว ซึ่งมีน้ำข้าวข้นๆ แล้วกวนให้เข้ากัน ใช้เศษผ้าขี้ริ้วชุบทากระทานจนทั่วแผ่นจนเรียบดี นำไปผึ่งแดดพอแห้งไม่เปื้อนมือและเสื้อผ้า”
ในปัจจุบันอาจจะหาวัตถุดิบที่กล่าวมาข้างต้นได้ยาก แต่ก็สามารถประดิษฐ์ใช้เองแบบง่าย โดยหาแผ่นไม้เรียบขนาดพอเหมาะทาสีดำหรือเขียวตากให้สีแห้งนับเป็นกระดาน ส่วนอุปกรณ์ไว้ใช้เขียนคือชอล์กหรือดินสอพอง
วิธีเล่น
กระดานชนวนนี้ใช้เขียนด้วยดินสอหิน ซึ่งทำด้วยหินชนวนตัดและฝนเป็นแท่งกลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ปลายแหลมหรือต้องฝนให้แหลมอยู่เสมอ ที่โคนแท่งดินสอมักพันด้วยกระดาษมีลวดลายสีต่างๆ หรือจะใช้ชอล์ก ดินสอพองแทนดินสอได้ กระดานชนวนนี้ เมื่อเขียนแล้วหากจะลบต้องใช้เศษผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ลบ จึงจะลบเส้นได้หมดและสะอาด
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ส.พลายน้อย กล่าวถึง กระดานชนวนในหนังสือ ร้อยแปดเรื่องไทย ว่า
พระยาศรีสุนทรโวหาร อธิบายไว้ว่า นักเรียนชั้นแรกหัดเขียน ก ข เรียกว่า กระดานดำ ทำด้วยไม้กระดานกว้างประมาณ 1 คืบ ยาวประมาณ 2-3 ศอก หนาราว 2 กระเบียด ด้านที่ใช้เขียนจะไสกบจนเรียบเกลี้ยง ทาด้วยเขม่าหม้อกับน้ำข้าว ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อจะลบตัวหนังสือที่เขียนด้วยดินสอขาว จะใช้น้ำลบซึ่งทำให้กระดานเปียก จึงต้องหยุดพักการเขียนแล้วนำกระดานไปตากแดดให้แห้ง แล้วจึงกลับมาเรียกอีกครั้ง เด็กที่ขี้เกียจเรียนจะแกล้งเอาน้ำลบมากๆ กระดานจะได้แห้งช้า มีข้อสังเกตว่ากระดานของเด็กขี้เกียจ สีดำจะจางเร็วจนเห็นเนื้อกระดาน เรียกว่า ‘กระดานแดง’
สำหรับกระดานชนวนสำหรับที่โตกว่า จะทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้งิ้ว ขนาดกระดานกว้างศอก ยาวศอกคืบ ที่ต้องใช้ไม้ดังกล่าว ก็เพื่อจะให้ ทารัก ติดแน่นดี (ขี้รัก ผสม ขี้เถ้าใบตองแห้ง เรียกว่า สมุก ทาให้เป็นสีดำ) ต่อจากนั้น ใช้ผงกระเบื้องถ้วยที่ป่นละเอียด คลุกกับน้ำรัก ทาฉาบอีกครั้งหนึ่ง ให้เรียบเสมอกัน แล้วขัดเงาด้วยหิน หรือเมล็ดสะบ้า เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ก็ทำกรอบ ดินสอที่ใช้เขียนคือดินสอพอง เอาดินสอพองแช่น้ำให้เปียก หรือโขลกให้แหลก พรมน้ำพอให้ปั้นได้ ทำเป็นแท่ง ขนาดหัวแม่มือ ยาวไม่เกินคืบ ด้วยเหตุที่ ดินสอพองถูกน้ำแล้วเหนียว จึงต้องคั้นน้ำใบตำลึง พรมที่กระดาน สำหรับปั้นดินสอเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ดินสอพองก็จะเหนียว ติดมือ ปั้นยาก เสร็จแล้วตากให้แห้ง ก็ใช้เขียนได้
และปรับจากกระดานชนวนขนาดเล็กเป็นกระดานดำขนาดใหญ่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ทั่วไปตามห้องเรียน ทำจากไม้อัดขนาดใหญ่ ทาพื้นสีดำหรือเขียวเข้ม ใช้ชอล์กเขียนเมื่อต้องการลบให้ใช้แปรงลบกระดานหรือผ้าเช็ด สามารถเขียนแล้วลบได้คล้ายกระดานชนวน
บันทึกของ พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) อดีตมหาดเล็กวิเศษ แห่งกองมหาดเล็กตั้งเครื่อง(เสวย) ในรัชกาลที่ 6 เล่าไว้ว่าการเรียนที่วัดต้องนั่งเรียนแบบนั่งเพียบกับพื้นกระดาน เครื่องเขียนมีกระดานแผ่นเดียว กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ใช้ขูดเอาดินหม้อดำๆ ที่เป็นผงติดอยู่ตามก้นหม้อดินที่ใช้หุงต้มในครัวมาสัก 1 พายมือ เทลงในกะลามะพร้าว ซึ่งมีน้ำข้าวข้นๆ แล้วกวนให้เข้ากัน ใช้เศษผ้าขี้ริ้วชุบทากระทานจนทั่วแผ่นจนเรียบดี นำไปผึ่งแดดพอแห้งไม่เปื้อนมือและเสื้อผ้า ก็แบกใส่บ่าเดินไปโรงเรียน ครูจะใช้ดินสอพองเขียนทีละวรรคให้ดังนี้ กขฃคฅฆง จฉชซฌญ ดตถทธ(ตัวเฑาว์)น ฎฏฐฑฒณ บปผฝภม ยรวศษสหฬอฮ เมื่อเสร็ตวรรค 1 แล้วสอนให้ใช้ไม้ก้านธูปที่ศาลาเจ้าพ่อหลักเมืองชี้อ่านออกเสียงทีละตัว ใครจำไม่แม่นครูจะดุและหยิกขาอ่อนจนร้องไห้ ท่านกวดขันให้จำชี้ตัวถูก ออกเสียงถูกเป็นวรรคๆ จนจบ
ถึงแม้ปัจจุบันกระดานชนวนจะไม่ใช้เพื่อบันทึก แต่ยังคงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ โหราศาสตร์ ดั่งเว็บไซต์กระทู้พันธุ์ทิพย์ห้องกระดานชนวน สำหรับผู้สนใจศาสตร์ด้านการพยากรณ์แขนงต่างๆ เพื่อศึกษาและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในวิชาพยากรณ์ระหว่างสมาชิก
ในอดีตกระดานชนวนถูกนำมาใช้เพื่อผลิตแท็บเล็ตสำหรับเขียน หินลับ ท็อปส์ซูในห้องปฏิบัติการ เครื่องหมายสุสานและโต๊ะบิลเลียด เนื่องจากกระดานชนวนเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีเยี่ยมจึงใช้สำหรับกล่องสวิตช์ไฟฟ้าในยุคแรกๆ ชาวเอสกิโมใช้กระดานชนวนในการทำใบมีดสำหรับ ulus ซึ่งเป็นมีดอเนกประสงค์
หมายเหตุ
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ https://museum.socanth.tu.ac.th/sec/กระดานชนวน