เหรียญ หัว-ก้อย



คำอธิบาย
เหรียญมีรูปนูนต่ำสองด้านไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งเป็นรูปคน portrait ส่วนใหญ่เป็นผู้นำของประเทศต่างๆ ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นจำนวนเงิน และมีภาพต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เช่น สถานที่สำคัญ ใบไม้ สัตว์ แผนที่ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ
 
ส่วนใหญ่การเล่นโยนหัวก้อยมักเล่นเพื่อต้องการการตัดสินใจเลือกระหว่างสองสิ่ง หรือใช้ตัดสินเพื่อเอาชนะ อาทิ ก่อนการเล่นเกมใดๆ ต้องหาผู้เล่นที่จะเริ่มก่อน
การใช้วิธีโยนหัวก้อยก็ถือว่ารวดเร็วและยอมรับได้ ในต่างประเทศเรียกการเล่นนี้ว่า heads or tails, coin flipping หรือ coin tossing ในระดับนานาชาติการโยนหัวก้อยที่ลุ้นระทึกคือการโยนเพื่อเลือกข้างในสนามเกม Cricket World Cup, Super Bowl และเกมการแข่งขันกีฬาอื่นๆ
 
ประโยชน์ของการเล่นโยนหัวก้อย
ด้านร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อนิ้วมือโยนเหรียญ และสายตาสอดประสานขณะใช้มือตะปบ
ด้านจิตใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน รู้จักควบคุมอารมณ์เมื่อทายผิด ยอมรับในผลที่ออกมา
ด้านปัญญา ฝึกการคาดคะเนความเป็นไปได้ของผลหัวก้อย
ด้านสังคม แบ่งปันของเล่นกับผู้อื่น
 
วิธีเล่น
เล่นกันสองคนขึ้นไป ตกลงกันใครเป็นผู้เริ่มก่อน โยนเหรียญขึ้นฟ้าแล้วเอาหลังมือหรือฝ่ามือรับ หรือจะโยนลงพื้น ระหว่างที่เหรียญกำลังจะโดนมือให้ใช้อีกมือหนึ่งตะปบปิดเหรียญเพื่อไม่ให้ผู้เล่นคนอื่นเห็นว่าออกหัวหรือก้อย คนที่เหลือทายว่าเหรียญจะออกหัวหรือก้อย
 
อีกหนึ่งวิธีเล่นคือใช้นิ้วปั่นเหรียญให้หมุนแล้วใช้มือปิดแปะไปที่เหรียญ ซึ่งวิธีนี้หากจังหวะที่ปิดมือลงไปแล้วเหรียญไม่ล้ม แต่กลับตั้ง คนที่เหลือทายว่าเหรียญจะออกหัว ก้อยหรือกลาง ตอนใช้มือตะปบเหรียญกับพื้นจะมีเสียงดัง แปะ จึงเป็นที่มาของการเรียกของเล่นชิ้นนี้ว่า ปั่นแปะ
 
 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
หัว-ก้อย เป็นการเล่นเสี่ยงโชคปัจจุบันมีการปรับการเล่นชนิดนี้รูปแบบการพนันออนไลน์ซึ่งผิดกฎหมายและการพนันจะทำให้เราสูญเสียทรัพย์สินอย่างง่ายดาย
เมื่อปี 2562 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมืองอาราเซลี่ ได้ทำการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี แต่ปรากฎผลคะแนนของสองผู้สมัครเท่ากัน เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีโยนเหรียญเพื่อตัดสินผู้ชนะ ซึ่งผู้สมัครทั้ง 2 ยอมรับกติกา เจ้าหน้าที่โยนเหรียญ 3 ครั้ง โดยผู้ชนะก็คือ Sue Cudilla ทายถูก 2 ใน 3 ครั้ง โดยกติกาโยนเหรียญนี้ ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่สามารถใช้วิธีดังกล่าวได้ หากคะแนนของผู้สมัครเท่ากัน ซึ่งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางฟิลิปปินส์ตัดสินหาผู้ชนะด้วยวิธีนี้ เมื่อปี 2016 ก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกัน
หากการโยนหัวก้อยคือการเสี่ยงทาย มีการเปรียบเทียบระหว่างการเสี่ยงทายแบบโยนหัวก้อยกับการใส่หมวกกันน็อคยามขี่มอเตอร์ไซต์ว่า “ความเป็นไปได้ที่เหรียญจะออกด้านใดด้านหนึ่งคือ 50/50 ไม่ว่าจะโยนกี่ครั้ง ‘ความเป็นไปได้’ นี้ก็จะคงที่ แต่สมองมนุษย์กลับไม่รับรู้เช่นนั้น สมมุติว่าเราโยนออก ‘หัว’ มา 5 ตาติดต่อกัน ให้โยนครั้งที่ 6 ความเป็นไปได้ที่จะหัว 6 ตาติด คือ 0.5x0.5x0.5x0.5x0.5x0.5 = 1.56% โอกาสเหลือแค่ 1 ใน 100 แต่สมองมักจะแปลผลนี้ว่า โยนครั้งที่ 6 เดี๋ยวก็ได้ หัว อีกเพราะ 5 ครั้งที่ผ่านมาได้ หัว หมดเลยเรียกได้ว่า สมอง ไปเพิ่มโอกาสให้ หัว โดยอัตโนมัติเป็น 60/40 กระทั่ง 70/30 เลยด้วยซ้ำไป กระบวนการคิดนี้เป็น 1 ใน อคติ (Bias) ที่เรียกว่า การหลงผิดของนักพนัน (Gambler's Fallacy) คือบ้านเราส่วนใหญ่เชื่อว่า ขี่รถมอเตอร์ไซค์ใกล้ๆ ไม่ต้องใส่หมวกก็ได้ เพราะประสบการณ์มันบอกว่าที่ผ่านมาเป็น 10 เป็น 100 ครั้ง ใกล้ๆ แค่นี้ ไม่เคยใส่หมวก ก็ไม่เห็นจะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะค่อยๆ โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่า สิ่งที่ต้อง ‘เดิมพัน’ กับการพนันครั้งนี้ เป็น ‘ชีวิต’ ทั้งตนเองและคนที่ตนรัก ไม่ใช่แค่ ‘เหรียญ’ เหรียญหนึ่งเท่านั้น