ยอ



คำอธิบาย

ชาวอีสานคุ้นรู้จักคำว่ายอเป็นอย่างดี ยอเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง มียอป่าและยอบ้าน ยอบ้านนิยมปลูกไว้บริเวณเรือนพัก ใช้ใบอ่อน ยอดอ่อน ออกรสขมเล็กน้อยนำมาประกอบทำห่อหมก ผลมีผิวขรุขระ ผลห่ามนำมาสับเป็นส้มตำกินเป็นยา ดอกใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นช่วยขับลมบำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้ร้อนใน บรรเทาอาการอาเจียน ผลแก่นำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ สมัยก่อนนำเปลือก ต้น รากมาย้อมผ้า ยอป่าสูงโตกว่ายอบ้าน มีใบผลคล้ายกัน ถือเป็นไม้มงคล ตัดกิ่งใบมามัดรวมกับวัสดุอื่น ผูกที่เสาเอกก่อสร้างเรือน ตัดมาเสียบปักหน้าประตูทางเข้ายุ้ง ฉาง เล้าข้าว เชื่อว่าจะช่วยให้เจริญรุ่งเรือง ได้รับการยกย่องสรรเสริญ สมัยก่อนตัดต้นมาแกะสลักเป็นพระไม้ขนาดเล็ก เพื่อเป็นพุทธบูชา

คำว่า “ยอ” คนไทยในลาวภาคอีสานใช้คำว่า “ย่อง” เช่น คนชอบยอว่า “มักย่อง” หรือว่า “บ้าย่อง” มีความหมาย คือ “บ้ายอ” คำว่า ยอ ยังใช้เป็นคำกริยามีความหมายให้หยุดหรือช้า ใช้กับวัวควาย เช่น ขณะที่ควายคราดไถ ต้องการให้ควายช้าหรือหยุดจะดึงเชือกแล้วพูดเสียงดังว่า ยอ ยอ หรือ ขณะที่ควายตื่นระแวงจะใช้คำว่า ยอ ยอ เพื่อให้คลายความกังวลลง แต่โดยทั่วไป ยอ หมายถึง พูดให้ถูกใจ ยกย่อง ยกขึ้น เช่น ยอกร หมายถึง ยกมือไหว้ แต่คำว่าตะวันยอแสง กลับหมายถึง ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ มีแสงอ่อนลงใกล้ค่ำ ดังนั้นคำว่า ยอ จึงมีความหมายว่า ยก หยุด หรือช้า
         

ยอเป็นเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ  เป็นผืนตาข่ายมีร่องตาขนาดเล็กทั่วไป  ใช้จับสัตว์น้ำ เช่น  ปลาขาว  ปลาซิว  ปลากระดี่  ลูกปลา  กุ้ง  เวลาใช้จะวางส่วนแผงตาข่ายวาง “หยุด”  ที่พื้นใต้น้ำสักครู่  เมื่อคาดว่าปลาเข้ามาในตาข่ายบ้างแล้วจึง “ยก”  ขึ้นอย่าง  “ช้า”  เพราะแผงตาข่ายตาเล็กจะต้องเสียดทานน้ำ ประกอบกับไม่ต้องการให้ปลาตื่น  หนีออกก่อน  ดังนั้น  คำว่าหยุด  ยก  ช้า จึงมีความหมายสัมพันธ์กับบอกควายให้ยอ “หยุด”  กล่าว “ยก”  ย่อง  และดวงอาทิตย์ยอแสงลง “ช้า ๆ”  ใกล้ค่ำ
         

ยอมีหลายขนาดไม่แน่นอน  มีส่วนประกอบสำคัญ  2 ส่วน  คือ  คันไม้ใช้สำหรับการเป็นคันยกและตัวผืนผ้าตาข่ายผูกติดกับโครงไม้  ยกกรองสัตว์น้ำ  แบ่งกว้าง ๆ มี 2 ขนาด  ขนาดใหญ่  ใช้ดักในแหล่งน้ำใหญ่  เช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง  ผืนตาข่ายกว้างประมาณ  3 x 3 ถึง 5 x 5 เมตร  ใช้คันไม้ใหญ่  แข็งแรง  มีน้ำหนักถ่วงที่โคนไม้  จะทำฐานโครงสร้างแข็งแรงติดตั้งไว้ริมตลิ่ง  หรือก่อสร้างเป็นแพ  โดยมียอตั้งอยู่ริมติดแหล่งน้ำ  อาจนับได้ว่า  ยอขนาดใหญ่  เป็นสถาปัตกรรมพื้นบ้าน  เพราะมีระบบขนาดโครงสร้างเข้าไม้เดือยแข็งแรงถาวร
         

ยอที่ชาวบ้านทั่วไปใช้เป็นยอขนาดเล็ก  ช่องตาข่ายแคบ  เป็นผืนรูปสี่เหลี่ยม  กว้างยาวประมาณ  120 x 120  ถึง 150 x 150 เซนติเมตร  มีเชือกผูกมัดทุกด้านที่มุมผูกติดกับโครงไม้ไผ่ยาวประมาณ  35  เซนติเมตร  2 ชิ้น  ที่ผูกไขว้กับเป็นรูปกากบาทแล้วต่อกับไม้คันยาวประมาณ  2 เมตร  
         

ชาวอีสานบางพื้นที่เรียกยอเล็กว่า “สะดุ้ง”  สาเหตุที่เรียกสะดุ้งเพราะเวลายกยอโผล่ขึ้นจากน้ำ  ปลา  กุ้ง  ก็จะกระโดด  สะดุ้งอยู่ภายในตาข่าย  หากปรุง  พริกผง  หัวหอม  ใบสะระแหน่  น้ำปลา  น้ำมะนาว  ชูรส  คลุกเคล้า  ตามสัดส่วนลงในหม้อ  กอบกุ้งเป็น ๆ  กุ้งสะดุ้งลงในหม้อ  ปิดฝาเขย่าผสมกันเปิดฝาออก  กลายเป็น  “กุ้งเต้น”  ดังนั้น  สะดุ้งจึงเป็นความหมาย  แสดงว่า  ชาวบ้านได้อาหารสด  เป็น ๆ ใหม่ ๆ
         

แม่บ้านหรือผู้หญิงจะเป็นผู้ใช้  ใช้ดักในแหล่งน้ำทั่วไป  โดยเฉพาะช่วงน้ำหลากในฤดูฝน  ดักบริเวณริมแม่น้ำ  ห้วย  ลำคลอง  ซึ่งจะมีปลาพล่านน้ำ  วางตาข่ายลงในพื้นน้ำ  หากน้ำหลากปลามากไม่ต้องใช้เหยื่อ  หากน้ำไหลน้อยหรือน้ำนิ่งในฤดูแล้ง  ใช้เหยื่อรำปั้นผสมข้าวสุกหรือผสมกระปิ  วางทิ้งไว้สักครู่  เมื่อคาดว่ามีปลา  กุ้ง  เข้าในตาข่าย  จึงยกขึ้นช้า ๆ  หากยกเร็วปลาจะตื่น  หนีออกตาข่าย  เมื่อยกขึ้นได้ปลาได้กุ้ง  ก็จะเลื่อนคันไม้เข้าข้างตัวให้ริมตาข่ายเข้าชิดตัวด้านหน้า  ใช้กะลา  ชามหรือใช้มือจับปลา  จับกุ้งใส่ข้อง  วางยกเช่นนี้จนพอเพียงต่ออาหารในเวลานั้นหรือเวลาหน้า “อยาก ๆ”  ก็มาวาง  หยุด  ยก  ช้า ๆ อีก