กระด้งลายขอ



คำอธิบาย

กระด้งลายขอ หรือเรียกว่า ด้งลายขอ ในภาษาถิ่นใต้ คือกะด้งฝัดของภาคใต้ สานด้วยตอกไม้ไผ่ รูปร่างกลมรีคล้ายๆ ใบโพธิ์ ใช้ฝัดข้าวและเมล็ดพืช เหตุที่เรียก กระด้งลายขอ เพราะสานด้วยตอกพิเศษซึ่งไม่เกลาเอาปล้องไม้ไผ่ออก ปล่อยให้เป็นปุ่มนูนติดบนผิวตอก ตอกเส้นหนึ่งจะเว้นปล้องข้อไว้เพียงข้อเดียว การสานต้องสานให้ข้ออยู่กึ่งกลางกระด้ง และให้ข้อไผ่บนตอกสลับฟันปลากันอย่างเป็นระเบียบ เรียก”ดี” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะถิ่นที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ลายดีตรงกลางกระด้งช่วยให้แยกเมล็ดข้าวดีและเมล็ดข้าวหักที่ผ่านการสีหรือซ้อมเอาเปลือกออกให้แยกออกจากกันได้ดีกว่ากระด้งทั่วไป เพราะลายขอจะช่วยกันเมล็ดข้าวที่ลีบเสียและเมล็ดวัชพืชออกจากข้าวให้อยู่ในแนวขอ การสานด้งลายขอมีสูตรว่า “ยกสองข่มห้า เรียกว่า ลายบ้าเอย” ที่เรียกว่า “ลายบ้า” คงเป็นเพราะว่าการสานกระด้งชนิดนี้สานยาก

กระด้งลายขอมีขนาดไม่ใหญ่นัก ในภาษาท้องถิ่นนิยมเรียกแนวดีแทนขนาด เช่น กระด้งขนาด 7 ดี หรือ 9 ดี เป็นต้น กระด้งที่นิยมใช้กันเป็นกระด้งที่มีลายขอถี่หรือละเอียดมากกว่ากระด้งที่มีลายขอห่าง ๆ กัน

กระด้งที่มีดีเป็นแนวกลางกระด้งนี้พบในบางถิ่นของภาคกลาง แต่เป็นกระด้งทรงกลม ไม่ใช่ทรงรีอย่างกระด้งลายขอของภาคใต้