คำอธิบาย
ตะกร้าหิ้วเป็นภาชนะใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น ใส่ขันข้าวและอาหารไปถวายพระ ใส่เครื่องกินหมากเป็นเชี่ยนหมากประจำบ้าน ประจำตัว เป็นต้น
ตะกร้าหิ้วจะมีรูปทรงคล้ายกระจาดเตี้ยๆ ปากกลมรี ก้นสอบ มักสานแบบโปร่ง มีหูสำหรับหิ้ว บางท้องถิ่นอาจมีฝาปิดด้วย เช่น ตะกร้าหิ้วรูปไข่สำหรับใส่หมากพลูติดตัวเดินทางที่นิยมใช้ในบริเวณภาคกลาง
รูปแบบของตะกร้าหิ้วจะมีความแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ตะกร้าหิ้วของชาวหัวเวียง อำเภอหัวเวียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สานด้วยไม้ไผ่และหวาย ปากกลมรี ก้นสอบ มีหูหิ้วทำด้วยไม้ไผ่หรือลวดข้างละสามขาแล้วโค้งไปรวมกัน หูที่ทำด้วยลวดพันหุ้มด้วยหวายทำให้ไม่เห็นลวดข้างใน หูกับตัวตะกร้าจึงมีความกลมกลืนกันสวยงาม
ตะกร้าหิ้วมีการผลิตกันหลายท้องถิ่นในจังหวัดภาคกลาง เช่น จังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และลพบุรี