ซิงนกคุ่ม



คำอธิบาย
นกคุ่มเป็นชื่อเรียกนกชนิดหนึ่ง  ตัวป้อมมีขนาดโตเท่าลูกไก่บ้าน  อายุประมาณ 20 วัน  ขนสีน้ำตาลเทา  มีลายพาดเป็นแถบริ้วที่ปีกข้างลำตัว  ที่แก้มมีจุดประสีขาวบนพื้นสีดำ  ขนใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อน  ตัวเมียใต้คางมีสีดำ  ปากยาว  ปีก หาง  ขาสั้น  ขาแต่ละข้างมีนิ้วเท้าด้านหน้าสามนิ้ว  นิ้วหลังไม่มี  วางไข่  คุ้ย  เขี่ยหาปลวก  แมลงและเมล็ดพืชบนพื้นดิน  บริเวณพุ่มไม้เตี้ยโล่งหรือหากินในทุ่งนาระยะข้าวสุกเริ่มเก็บเกี่ยว  เมื่อได้รับอาหารสมบูรณ์  เดือน 3 เดือน 4 มีฝนตก  อากาศสดชื่น  ต้นหญ้าแตกใบระบัด  นกตัวเมียจะอืดร้องเสียงนุ่มนวลไพเราะ  นกคุ่มตัวผู้จะดูแลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี  หากมีศัตรูเข้ามาทำร้ายลูก  พ่อนกจะแกล้งทำปีกหัก  ขาหัก  นอนดิ้น  กลิ้งอยู่ใกล้บริเวณนั้น  ให้ศัตรูหันเหออกจากลูกมาสู่ตัวเอง  เปิดโอกาสให้ลูกได้หลบหนีออกไป  
 
นกคุ่มเป็นสัตว์ปีกที่ไม่มีอาวุธหรือมีความสามารถในการบินเหมือนนกชนิดอื่น  จะบินเฉพาะเมื่อตกใจ  บินขึ้นระยะสั้นๆ แล้วบินลง  ธรรมชาติจึงสร้างให้มีความสามารถในการหลบลี้  ซุ่มซ่อน  อาศัยสีขนแฝงตัวกับกิ่งไม้ใบไม้  หญ้าแห้งกลมกลืนอย่างแนบเนียน  หากนำมาเลี้ยงไว้จนเชื่องคุ้นจะส่งเสียงร้องอืดให้เพลิดเพลินใจ  ชาวบ้านเชื่อกันว่า  หากได้นกคุ่มที่ดีมาเลี้ยงไว้  นับว่าเป็นมงคล  คุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาดจากเภทภัยอันตรายใดๆ ได้  เพราะ  มีชื่อและสัญชาตญาณในการหลบหลีก  แอบซ่อนนี้เอง  ความเชื่อทางไสยศาสตร์  จึงใช้เข็มจุ่มหมึกดำสักเป็นรูปนกคุ่มบนผิวหนัง  พร้อมกำกับอักขระคาถา  เชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย  มีเสน่ห์  เมตตามหานิยม
 
ชาวบ้านจึงนิยมดักต่อนกที่มีลักษณะที่ดี  โดยเฉพาะนกตัวเมีย  เพราะนกตัวเมียจะร้องอืดมีสีสวยงามมากกว่านกคุ่มตัวผู้  นกคุ่มตัวผู้ที่โชคร้ายจะใช้เป็นอาหารของผู้คนต่อไป
 
นกต่อคือนกคุ่มตัวเมียที่ดักจับได้นำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง  ในกรงเล็กๆ เรียก ตุ้มนกคุ่ม  เพื่อฟังเสียงร้องอืดและใช้เป็นนกต่อ  โดยห้อยแขวนไว้ในชานเรือน  หรือใต้ถุนที่ร่มและจะนำไปใช้ต่อนกโดยมีซิงเป็นอุปกรณ์ใช้ดัก
 
ซิงนกคุ่ม  มีลักษณะแบบเดียวกันกับซิงกระต่ายแต่มีขนาดเล็กกว่า  ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นกลม  ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร  เป็นโครงไม้มีโคนหนาเสี้ยมปลายแหลม  ใช้เสียบยึดดินและยืดหูตาข่าย  เหนือปลายโคนประมาณ  10 เซนติเมตร  คอดเล็กน้อย  ถักตาข่ายออกจากหูห่วงลวดให้มีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร  ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร  มีตาห่างประมาณ 3 เซนติเมตร  ผูกเชือกคร่าวๆ  ที่ขาโครงข้างหนึ่ง  แล้วร้อยลอดห่วงต่อไปที่ตาข่าย  ด้านบนไปที่ห่วงแล้วผูกที่ขาโครงอีกข้างหนึ่งเมื่อต้องการเก็บซิงก็จะใช้ปลายโครงไม้  สอดยึดกับห่วง  โครงขาจะดึงตาข่ายให้ตึง  แล้วผูกรวมกันได้ครั้งละหลายๆ อัน
 
วิธีการใช้  มีวิธีการใช้หลายวิธีหลายรูปแบบ  โดยเริ่มดักในช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวไปถึงฤดูร้อนเดือน 5 บางครั้งพบว่า  มีนกคุ่มเข้ามาหากินในนาข้าว  ชาวนาก็จะวางซิงตามช่องระหว่างโคนกอข้าว  โดยนำตาข่ายออกปักวางปลายไม้โครงเสียบดิน  แล้วใช้วางพาดด้านบนปิดขวางระหว่างโครง  จากนั้นก็อ้อมมาเกี่ยวข้าวอีกข้างหนึ่งมุ่งหน้าเข้าหาซิง  การเกี่ยวข้าวจะเกี่ยวครั้งละหลายๆ คน  เสมือนการต้อนนกคุ่มวิ่งไปข้างหน้าเข้าซิง  การเกี่ยวข้าวก็เกี่ยวเป็นปกติ  นกไม่ตื่นบินแต่จะลัดเลาะใต้กอข้าวเข้าติดซิง
 
วิธีดักไล่  อาจใช้คนๆ เดียวหรือหลายคนก็ได้  เมื่อพบว่าบริเวณดังกล่าวมีนกคุ่มป่าอาศัยอยู่  อ้อมออกไปด้านหน้า  วางซิงโดยการปักวางไม้โครงห่างๆ กันตามช่องทางที่คาดคะเนว่านกจะต้องผ่าน เส้นทางที่ดักหากมีช่องดักกว้างก็จะใช้กิ่งไม้วางปิดกั้น  เรียก  “กันเพียด”  จากนั้น  จึงอ้อมกลับด้านหลังใช้ไม้ตีพุ่มไม้ไล่ลงในพุ่มไม้  ตีดะไปเรื่อยๆ  แต่ไม่ควรให้นกตื่นเพราะนกอาจจะบินข้ามซิง  นกจะวิ่งลัดเลาะและในที่สุดจะวิ่งเข้าชนซิงโดยชนตาข่ายลอดเข้าหว่างขาซิง  หูตาข่ายจะรูดรวบนกติดอยู่ภายใน
 
การใช้นกต่อ  ผู้ดักจะต้องใช้ซิงหลายอันช่วยในการดักต่อโดยนำนกต่อที่อยู่ในตุ้ม  คลุมผ้าเดินเข้าป่าที่มีนกคุ่มอาศัยอยู่เมื่อเลือกสถานที่ที่มีนกคุ่มหากินหรือร้องอืด  ก็จะห้อยแขวนนกต่อในพุ่มไม้เตี้ยๆ  ใช้นกเป็นจัดศูนย์กลางแล้ววางซิงด้วยวิธีเดิม  วางซิงโดยรอบเป็นรัศมีห่างจากนกต่อประมาณ 6 – 7 เมตร  ถ้ามีช่องว่างมากก็วางเพียดช่วย  จากนั้น ก็เปิดผ้าคลุมแล้วออกนอกพื้นที่ห่างๆ  ฟังนกต่ออืดร้อง  และ ฟังนกป่าอืดร้องรับนกที่อยู่โดยรอบจะวิ่งเข้าหานกต่อ  นกคุ่มตัวเมียจะเข้าจิกตี  นกตัวผู้จะวิ่งเข้าหา  จึงเข้าติดซิง
 
วิธีดังกล่าวอาจได้นกมาครั้งละสองตัว  แต่หากนกคุ่มชุมก็จะได้มากกว่านั้น  ชาวบ้านก็จะเลือกนกตัวเมียที่มีสีสวยงามตามลักษณะความเชื่อเลี้ยงไว้  อืดร้องเป็นนกต่อใช้ล่อนกต่อไป  ส่วนนกตัวผู้หรือนกที่ไม่เข้าลักษณะ  อาจใช้ประโยชน์ไปทางอื่น