ซิงนกทา



คำอธิบาย
นกกระทาเป็นที่ผู้คนรู้จักกันดี  โดยเฉพาะไข่นกกระทา  ด้านหนึ่งกลมป้านอีกด้านหนึ่งมน  มีลายสีน้ำตาลทั่วทั้งฟอง  วางหาบเร่ขายทั่วไป  เพราะเลี้ยงง่ายขยายพันธุ์เป็นธุรกิจเน้นการผลิตไข่ออกสู่ตลาด  มีขนสีน้ำตาล  หากินบนพื้นดิน  ขนาดใหญ่กว่านกคุ่มเล็กน้อยแต่เล็กกว่านกกระทาป่าที่ชาวบ้านดัก
 
นกกระทาป่า  แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ นกกระทาดงและนกกระทาทุ่ง  มีรูปร่างคล้ายนกคุ่ม  แต่มีตัวขนาดใหญ่กว่า  ใหญ่ประมาณไก่แรกรุ่นที่เริ่มละออกจากแม่  นกกระทาดงอาศัยอยู่ในป่าทึบ  ที่ไฟป่าไหม้ไม่ถึง  ชอบเกาะบนกิ่งไม้  แต่ลงคุ้ยเขี่ยหาอาหารบนพื้นดิน  ไม่ชอบอยู่ป่าโปร่ง  ป่าโคก  ร้อง  เสียงดัง  โก๊น – โก๊น – โก๊น ผิดกับเสียงร้องของนกกระทาทุ่งที่มีเสียงร้องดัง แท้ต – แท้ต – แท้ต – ท่า – แท้ต – แท้ต – แท้ต – กะท่า  เสียงร้องคำว่า “กะท่า”  จึงเป็นชื่อเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกกระทา”
 
 
 
ในอดีตนกกระทาทุ่งมีให้คนพบเห็นทั่วไปในดอนป่าโคก  ป่าโปร่ง  ทุ่งหญ้า หรือ ทุ่งนา  ชายป่า  เป็นนกที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่ากระทาดง  ปัจจุบันทั้งนกกระทาดงและนกกระทาทุ่ง  พบเห็นได้น้อยมาก  แต่ก็ยังคงมีอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ ห่างไกลผู้คน  และก็ยังพบว่า  มีการเลี้ยงนกกระทา  ไว้ในกรงเฉพาะ  เรียก “ตุ้มนกทา”  เพื่อฟังเสียงขันร้องและใช้เป็นนกต่อในพื้นที่ๆ มีนกป่า
 
นกกระทามีรูปร่างอุปนิสัยคล้ายนกคุ่ม  แต่มีขนาดใหญ่และสวยงามกว่า  มีปลายปากแหลม  โคนหนา  หัวสีน้ำตาล  ที่ตามีลายสีดำคาด  คล้ายสวมหน้ากาก  ใต้หน้ากากมีสีขาวแต้มที่แก้ม  มีสีดำคาดจากมุมปากอ้อมไปถึงท้ายทอยเรียก “ตะพาย”  ขนสีน้ำตาลมีลายขาวคาดขวางจากกลางหลังไปถึงปลายหาง  ที่ปลายหางมีสีดำ  มีจุดประสีขาวกระจายอยู่เกือบทั่วทั้งตัว  ใต้ท้องสีน้ำตาล  ขาสั้นสีเหลืองตัวผู้มีเดือยเหมือนไก่  ชอบคุ้ยเขี่ยหาอาหารทำรังวางไข่บนพื้นดิน  อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าคา  ที่ดอนป่าโคก  ว่องไว  ปราดเปรียว  หากตกใจจะบินขึ้นโดยเร็ว  บินสูงแล้วร่อนลงหากินอาหารตามปกติ  ตัวผู้ช่วยตัวเมียเลี้ยงลูกเล็กๆ  เป็นอย่างดีจะเรียกลูกเข้าซุกใต้ปีก  หากมีอันตรายถึงลูกจะแกล้งทำบาดเจ็บ  นอนดิ้น  ตีปีกอยู่บริเวณแถวนั้น  นกตัวผู้จะไม่ยอมให้นกอื่นเข้ามาแสดงความยิ่งใหญ่ในถิ่นของตัวเอง  หากนกกระทาแปลกหน้าเข้ามาร้องขัน  ก็จะขันไล่  หากถูกยั่วยุก็จะลัดเลาะบุกเข้าจิกตีทันที  เพราะเป็นนกห่วงถิ่น  ชาวบ้านจึงจับนกกระทาป่าตัวผู้  โดยเลือกนกที่มีลักษณะดี  หากได้นกที่ “ ตูดลาย  ตะพายขาด”  จะไม่เลี้ยงเป็นนกต่อ  เพราะเชื่อว่าไฟจะไหม้บ้าน  ดังนั้น  จึงเลือกนกตูดไม่ลาย  ตะพายไม่ขาด  ที่มีลักษณะตามความเชื่อ  เลี้ยงไว้เป็นนกต่อฟังเสียงขันร้องในตุ้มนกที่มีขนาดเล็กพอนกเดินหมุนตัวหันซ้ายขวาได้  พื้นกรงสานทึบใช้ดินหุน  (ดินรังปลวกสีดำแข็ง)  ให้นกคุ้ยเขี่ยมีช่องด้านข้างใส่อาหารและน้ำภายนอก  พอให้นกลอดหัวออกมากินอาหารได้  ห้อยแขวนที่ชายคา  ใต้ถุนและต้นไม้ใกล้เรือนพัก  จะเลี้ยงไว้เป็นเวลานานหลายเดือน  เพื่อให้นกคุ้นเคยและขันร้อง  พร้อมที่จะเป็นนกต่อโดยต่อร่วมกับซิง
 
ซิงนกทา  เป็นเครื่องดักจับเป็นนกกระทา  รูปลักษณะเหมือนซิงกระต่ายและซิงนกคุ่ม  ขนาดเล็กกว่าซิงกกระต่ายแต่ใหญ่กว่าซิงนกคุ่ม  เป็นโครงไม้ไผ่ยาวประมาร 110 เซนติเมตร  ตาข่าย 70 เซนติเมตร  ช่องตาข่ายกว้าง 4 เซนติเมตร  หากวางโครงบนพื้นความสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 40 เซนติเมตร  นกกระทาวิ่งชนได้ง่าย
 
วิธีการใช้  ใช้ได้ทุกฤดูที่ได้ยินเสียงนกกระทาขับร้อง  แต่นิยมดักช่วงหน้าฝน  เพราะอากาศดี  พื้นดินชุ่มชื้น  มีอาหารอุดมสมบูรณ์  ดังนั้น  นกขันร้องได้ดีในช่วงฤดูฝน  เวลาเช้าและเวลาเย็นเหมาะสำหรับการดักในช่วงฤดูฝนนี้  โดยการออกฟังเสียงนกบริเวณที่นกอาศัยอยู่ล่วงหน้า  วันรุ่งขึ้นแต่เช้าจึงออกวางกับดักก่อนนกออกหากิน  โดยการนำผ้าคลุมตุ้มนก  แล้วพานกเข้าป่าพาไปสถานที่ที่เลือกไว้แล้ว  เมื่อกำหนดจุดแขวนนก  โดยแขวนให้สูงจากพื้นพอเอื้อมถึงประมาณ  2 เมตรแล้ววางซิงประมาณ 7 – 10 อันโดยรอบวางโครงไม้เสียบดินห้อยตาข่ายหน้าโครง  ห่างกันตามช่องว่างที่คาดว่านกป่าจะเข้ามาระหว่างซิงจะหากิ่งไม้ใช้กิ่งไม้กั้นขวาง “เพียด”  เปิดผ้าคุมนกต่ออก  แล้วหนีออกไปซ่อนตัวห่างๆ  รอคอยฟังเสียงนกต่อขันร้อง  เมื่อนกต่อเห็นพื้นที่ในป่า  เงียบสงบก็จะขันร้องขึ้น  บางครั้งได้ยินเสียงนกป่าขันร้องก่อน  ก็จะร้องทัก  เมื่อนกเจ้าถิ่นเห็นนกแปลกหน้าบุกเข้าถิ่นก็จะขันไล่  นกต่อจะขันยั่ว  ในที่สุดนกป่าก็จะลัดเลาะเข้ามาหา  นกต่อ  เพื่อจิกตี  แต่ก็ต้องวิ่งชนตาข่าย  ตาข่ายจึงคลุมห่อตัวให้นกติดในถุงตาข่ายหยุดร้อง  นกต่อก็หยุดขัน  คนดักจึงรู้ว่านกติดซิงแล้วก็จะเข้ามาหาจับนกป่ากลับเรือน
 
นกที่ได้มาอาจได้มาทั้งตัวผู้และตัวเมีย  หากได้ตัวผู้  คนดักจะพิจารณาลักษณะเลือกเฉพาะนกตัวผู้  รูปสวย  สายสะพายพาดจากปากอ้อมท้ายทอยมาที่มุมปากอีกข้างหนึ่ง  ก้นออกสีน้ำตาลก็จะเลี้ยงไว้  ฟังเสียงร้องหรือใช้เป็นนกต่อ  หากนกที่ดักได้ตูดลาย  สายสะพายขาดก็จะพิจารณาไม่เลี้ยงเหมือนนกตัวเมีย