คำอธิบาย
เป็นเครื่องมือชื่อเรียกไม่แน่นอน บางพื้นที่เรียก “ไซนั่ง” บ้างเรียก ลอบตั้ง หรือ ลอบยืน โดยเรียกชื่อตามลักษณะการดักวาง คือ นั่ง ตั้ง ยืน หากพิจารณาถึงโครงสร้างลักษณะ “ไซ” มีลักษณะเป็นท่อยาว ปลายแหลม ก้นสอบเข้าแล้วทำเป็นทรงกระบอก ใช้เศษหญ้า อุดปลายท้าย มีงาแซง วางเยื้องสวนกัน ดักปลาตามน้ำและทวนน้ำ ส่วนลอบมีรูปลักษณะเป็นท่อทรงกระบอกปลายตัดชัดเจน มีช่องทางเข้าเป็นงารอบปาก มีงาอย่างเดียวกันภายในอีก ท้ายทำช่องไม้ขัดเป็นที่เทปลาออก ส่วนลอบยืนจะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดไม่แน่นอน แต่ที่ปากงาทางเข้าเหมือนด้านข้างเพียงหักพับเข้ามาด้านใน ยาวเป็นแนวตั้งแต่ด้านบน จนถึงพื้นล่าง บางหลังอาจทำงาไหว้ผูกเชือกรอบช่องประตู ใช้เชือกมัดงา ไขว้กันตั้งแต่ส่วนบนจนถึงด้านล่าง มีทางออกเป็นไม้ขัดปิดด้านบน ใช้ดักปลาหากินทวนน้ำ ดังนั้น หากพิจารณาถึงรูปลักษณะ วิธีการดัก ใกล้เคียงกับลอบมากกว่า จึงขออนุโลมเรียก ลอบตั้ง หรือ ลอบยืน ตามลักษณะที่ปรากฏ
ลอบยืน ทำจากไม้ไผ่ ลักษณะเหมือนลอบนอนแต่เวลาใช้จะวางตั้ง มีหลายขนาด ขนาดใหญ่พบเห็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำ ห้วย หนองน้ำ ส่วนขนาดเล็กพบเห็นบ้างไม่มากเหมือนลอบนอน ลอบยืนจะมีทรงกระบอก ปลายตัดทั้งสองข้าง ริมด้านข้างมีช่องประตู เริ่มตั้งแต่ด้านบนยาวลงมาถึงด้านล่างเป็นทางเข้า โดยผูกเรียงไม้ถี่ๆ เหมือนด้านข้างแล้ว หักพับด้านใน ให้ปลาลัดเลาะ แทรกตัวเข้าด้านในชาวบ้านจะใช้จอบยืนดักปลาขวางทางน้ำไหล ตามช่องระบายน้ำระหว่างคูคันนา โดยหันด้านข้างตรงข้ามงาปะทะกระแสน้ำ ใช้ดักปลาหากินทวนน้ำ เพราะปากงาทางเข้าแคบ ช่องซี่ระหว่างคูคันนา ช่องซี่ระหว่างไม้ถี่เกือบชิดติดกันจึงมุ่งดักปลา กระดี่ ปลาหมอ ปลาดุก ปลาช่อนที่ยังไม่โตเต็มวัย นอกจากนี้ยังใช้ดักริมห้วย หนอง โดย วางห่างกันพอสมควร แล้วใช้เฝือกช่วย เชิงบังคับให้ปลา ลัดเลาะข้างเฝือกเข้าลอบยืน