คำอธิบาย
ชุดเป็นชื่อเครื่องมือดักปลาช่อนและปลาชะโด ถักด้วยตอกหวายตาห่างๆ ยาวเป็นรูปทรงกระบอก หากใช้หวายเส้นใหญ่นำมามัดถักเป็นช่องๆ ตาห่างๆ แข็งแรงใช้เคลื่อนย้ายหมู เรียกว่า “ชุดหมู”
ภาคอีสานบางพื้นที่เรียก ชุด ว่า ซูด เป็นคำกริยา หมายถึง การเคลื่อน เช่น ใช้มือดันโต๊ะให้เคลื่อนไปข้างหน้า เรียก “ซูดโต๊ะ” บางครั้งเรียกเด็กผู้ชายที่ไม่อยู่เป็นสุขเคลื่อนไปเคลื่อนมาอ้อมหน้าอ้อมหลัง เรียก “บักซูดลูด” ดังนั้น คำว่า ซูด เกี่ยวข้องกับกิริยาของแม่ปลาช่อนที่ว่ายเคลื่อนตัวเข้าไปติดในเครื่องมือดักที่เรียกว่า “ซูด” นอกจากนั้นยังปรากฏมีพรรณเถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง เรียกเครือซูด นำเถาไม้นี้มาจักเป็นตอกเส้นบางๆ แล้วนำมาถัก ใช้ดักแม่ปลาช่อน ดังนั้น คำว่า ซูด ในภาคอีสานจึงมีความสัมพันธ์คือการว่ายเลื่อนเคลื่อนไปด้านหน้าหรือเป็นอุปกรณ์การดักที่ทำจากเถาเครือ “ซูด”
ซูดเป็นเครื่องมือดักแม่ปลาช่อนและปลาชะโด ทำด้วยตอกที่ผ่าเหลามาจากเครือซูด หวาย หรือผ่าฉีกมาจากเส้นพลาสติกที่ใช้รัดกล่องลังสินค้า นำมาถักเป็นช่องตาห่างๆ รูปสี่เหลี่ยม ปากกว้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 เซนติเมตร มีรูปร่างเป็นตาข่ายทรงกรวยยาว ริมปากด้านข้างผูกเชือก 2 เส้นและผูกที่ปลายท้ายหนึ่งเส้น เพื่อใช้ผูกกอหญ้าหรือกิ่งไม้ ป้องกัน ซูดเคลื่อนหรือลอยหายไป
การใช้ มีใช้แพร่หลาย ใช้ได้เพียงระยะฝนใหม่ประมาณเดือนหก พฤษภาคม และเดือนเจ็ด มิถุนายน ดักแม่ปลาช่อนหรือปลาชะโดที่เข้ามาหากินทำรัง วางไข่ริมน้ำ โดยเฉพาะแม่ปลาช่อนที่จะทำรังบริเวณป่าหญ้าริมน้ำตื้นๆ กัดใบไม้ใบหญ้าให้ลอยน้ำ วางไข่ผสมพันธุ์ให้ไข่ลอยเป็นแพรวมกันกับใบไม้ใบหญ้า แล้วเฝ้าระวังเข้าออกแถวๆ นั้น ผู้ดักจะสังเกตรังปลาช่อนเข้าออกก็จะวางซูดดักบริเวณนั้น วางพอปริ่มน้ำให้ปากซูดหันรับแม่ปลาที่เข้ามาใช้เชือกริมปากและที่ปลายท้ายผูกติดกิ่งไม้หรือกอหญ้า ปิดกั้นริมด้านข้างปากซูดพอบังคับปลาให้เข้าทางช่องปาก แล้วออกจากบริเวณที่ดักเมื่อปลาเข้ามาที่รังก็จะเข้าทางช่องว่าง ซึ่งเป็นช่องปากซูด เข้าไปช้าๆ จนติดริมซูดภายใน เลี้ยวกลับไม่ได้จึงพุ่งดันไปข้างหน้า ก็ยิ่งติดรัดแน่นกลับออกไม่ได้
ชาวโคราชเคยเล่าเป็นสำเนียงท้องถิ่น เรื่อง แม่ปลาช่อนที่ต้องเผชิญหน้าซูดตรงๆ โดยไล่ซูดให้หนีไปว่า “ไอ้ซูดปากกว้างหนีทางกูทั่ว” ซูดตอบกลับไปว่า “ไอ้ช่อนตาแดงแกงกับหน่อไม้ส้ม” แม่ปลาช่อนจึงโกรธพุ่งเข้าชนภายในปากซูด จึงติดซูด เป็นการแสดงอานุภาพของซูดซึ่งเป็นเครื่องมือดักแม่ปลา ถึงอย่างไรก็ตามชาวบ้านหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับพรานปลาที่ใช้ซูด เพราะเห็นว่าซูดดักได้เฉพาะแม่ปลาที่วางไข่หรือเฝ้าลูกอ่อน หากไม่มีแม่ปลาคอยคุ้มครองลูกอ่อนก็จะตกเป็นอาหารของปลาอื่น
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้เขียนเล่าในหนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ ถึงปลาช่อนว่า “แรกๆ ก็เข้าใจว่า ปลาที่เฝ้ารังเลี้ยงลูกนั้นเป็นแม่ปลา แต่เกิดสงสัยเลยผ่าทดลองดูเพศของปลา พบว่า เป็นปลาตัวผู้ทุกที เลยเชื่อว่า ปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังที่ริมน้ำกัดผักหญ้าที่ลอยอยู่ในรัง เพื่อให้ตัวเมียวางไข่ จากนั้นจะปล่อยน้ำเชื้อผสมไข่ ไข่จะลอยเป็นแพปนผักหญ้าในรังนั้น แล้วจะไล่แม่ปลาหนี แม่ปลาคงกินไข่กินลูกอ่อนของตัวเอง เมื่อลูกโตแข็งแรงก็จะพาลูกออกไปหากิน แล้วก็จะว่ายอยู่ใต้น้ำดูแลลูกอยู่แถวนั้น” ดังนั้น การกล่าวว่า ซูดเป็นเครื่องมือดักแม่ปลาช่อนจึงไม่น่าที่จะถูกต้องตามที่นายแพทย์บุญส่ง ผ่าพิสูจน์ หากกล่าวว่า ซูดเป็นเครื่องมือดักพ่อปลาช่อนก็ยังต้องอธิบายกับชาวบ้านยืดยาวกันต่อไปอีก