ปลาหลดเป็นปลาน้ำจืด สีน้ำตาล ด้านบนเข้มส่วนท้องจางลง ตัวเรียวแบนตัวใหญ่ยาวประมาณ หนึ่งคืบมือ มีจะงอยแหลมยื่นจากด้านบนปากใช้สัมผัสเขี่ยอาหาร กินสัตว์เล็ก ๆ และของเน่าเสียได้ ตัวลื่นมีเกร็ดละเอียดเล็ก ๆ ทั้งตัว มีครีบข้างหลังเหงือกทั้งสองข้าง ครีบด้านบนเริ่มที่สันกลางตัวเป็นแผ่นเล็ก ๆ ยาวต่อมาถึงโคนหาง ข้างตัวใต้ครีบหลัง มีวงสีน้ำตาลอ่อนเรียงกัน 6 วงภายในมีจุดสีดำ สวยงาม ซุกตัวอยู่ในดินโคลนเลนใต้ใบไม้ในน้ำได้ดี หากินเวลากลางคืน ในสระหนองทั่วไป จะว่ายทวนกระแสน้ำจากแหล่งที่อยู่เดิม ขึ้นมาหากินในท้องทุ่งนา เมื่อมีน้ำหลากเข้าแหล่งที่อาศัย ชาวบ้านจะใช้แหตาถี่หว่านปลาหลด ในช่วงปลาขึ้นทวนกระแสน้ำ หาน้ำใหม่ แต่หากปลาลง จะสูบสระหรือรอให้น้ำในสระแห้งก็จะใช้ขอปลาหลด
ขอปลาหลด เป็นเครื่องมือจับโดยการขูดเกี่ยวตัวปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำตื้น หรือน้ำสูบออกเป็นดินโคลนเลน ใช้ตัวปลาติดเข้าระหว่างช่องตาขอ สามารถใช้ได้ในเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ทำจากเหล็กขนาดประมาณ 2 หุน ยาวประมาณ 45 เซนติเมตร เผาไฟให้ร้อนแดงแล้วตีรีดจากโคนให้แบนลงเล็กน้อยเรื่อยมา ประมาณ 23 เซนติเมตร เผาไฟยกขึ้นตีอีกโดยดัดโค้งมาด้านหน้าประมาณ 10 เซนติเมตร จะได้รูปงานที่เป็นแผ่นหนาเส้นโค้งไปด้านหน้า เผาไฟแล้วตีดัด หักมุมโค้งขึ้นด้านบนกลับไปด้านหลัง แล้วดัดให้ปลายงอแหลมคล้ายตัวสระโอที่เป็นสระในภาษาไทยตีตกแต่งให้เรียบร้อย รอให้เหล็กเย็นลง แล้วอัดสวมโคนเข้าที่ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร รัดด้วยปลอกเหล็กให้แน่น
เวลาใช้จะใช้ในพื้นที่ ๆ มีน้ำน้อย มีโคลนเลนและมีปลาหลดอาศัยซุกซ่อนตัวอยู่ ผู้ใช้จะจับด้ามไม้ด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วขูดเกี่ยวลงใต้ผิวโคลน ลักษณะคล้ายกวาดไม้กวาด วาดกวาดลงด้านหน้าแล้วยกตาขอโผล่ให้เห็นว่ามีปลาติดหรือไม่ หากได้ปลา ปลาจะติดอยู่ในระหว่างช่องตาขอไม่ว่าจะได้ปลาใหญ่หรือปลาเล็ก หรือบางครั้งจะได้เศษใบไม้ ติดขึ้นมาจนน่ารำคาญ ไล่กวาดจับเป็นที่ ๆ ขยับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ
ปลาหลดไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจ จึงหากินได้ไม่บ่อยนัก เป็นปลามีรสชาติดี ขายได้ราคา ตัวเล็กคลุกเกลือตากแห้งทอดลงกระทะร้อน ๆ กินได้ทั้งก้างกรอบทั้งตัว ตัวใหญ่ต้มทั้งตัวคลุกเครื่องซดน้ำ หรือนำมาเรียงกัน ใช้ไม้ไผ่คีบปิ้งไฟอ่อน ๆ ให้เหลืองสุก ฉีกเนื้อจิ้มพริกผง น้ำปลา มะนาว กินกับข้าวสวยร้อน ๆ อุ่น ๆ อร่อยไม่ลืม