คำอธิบาย
ปลาซิวเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก หากินเป็นฝูงบริเวณผิวน้ำ เป็นปลาที่ดูแล้วไม่มีความหมายเหมือนปลาชนิดอื่นๆ ดังคำเปรียบเทียบความสำคัญอย่างดูถูกดูแคลนว่า “พวกปลาซิวปลาสร้อย” คงเพราะเป็นปลาตัวเล็ก ดังนั้น หากจะนำปลาซิวมาประกอบอาหารจึงต้องได้ปลาจำนวนมาก ได้ประมาณร้อยตัวพอได้มาก้อย มากกว่านั้นก็พอมาทำปลาจ่อม หากจะนำมาตากแห้ง ทอดน้ำมันกินก็ต้องได้มากกว่านั้น
ชาวบ้านอีสานรู้จักและหาปลาซิวมาเพื่อประกอบอาหารได้ตลอดตามแหล่งน้ำทั่วไปในท้องนา ปลาซิวจะมีรสชาติดีในฤดูฝนที่ปลามีไข่ หลังจากไข่แล้วก็ออกรสขม ชาวบ้านใช้ไซ ตาข่าย แหปลาซิว หว่านหาปลาซิวนาเมื่อยามอาหารขาดแคลน
ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนติดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ห้วย คลอง แม่น้ำจะดักหาปลาซิวอ้าวที่มีขนาดใหญ่กว่าปลาซิวนา หากปลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารอุดมสมบูรณ์จะมีขนาดใหญ่ประมาณนิ้วชี้มือ มีรสชาติดี ไม่ขม หากได้มาสิบถึงยี่สิบตัว คลุกเคล้าพริกแกงปรุงรสปิดทับด้วยใบแมงลัก ผักขะแยงหรืออีออมที่เกิดเฉพาะฤดูฝน ห่อใบตองปิ้งไฟอ่อนๆ พลิกกลับไปมาให้สุก ส่งกลิ่นหอมเรียก “หมกปลาซิว” คลุกข้าวสวย หรือ จ้ำข้าวเหนียวกินกันอิ่มทั้งครัว ดังนั้น หากเปรียบเทียบพวกปลาซิวปลาสร้อยก็ควรยกเว้นปลาซิวอ้าว
ตุ้มปลาซิว เป็นเครื่องมือดักจับปลาซิวอ้าว ทำจากตอกไม้ไผ่เหลาขึ้นรูปที่กึ่งกลางก้นโดยจะทำเป็นรูเล็กๆ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร โดยใช้ตอกตั้งเหลาปลายแหลม ทำเป็นงาหันขึ้นด้านบนแล้วสานด้วยตอกกลมโดยรอบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ดัดให้งอขึ้นสานต่อด้วยตอกแบนเป็นรูปทรงกระบอกถึงส่วนบ่าสูงประมาณ 65 เซนติเมตร ทำคอคอดเล็กน้อยสานด้วยตอกกลมเว้นระยะห่างให้คอโปร่งประมาณ 8 เซนติเมตร สอบแคบลงถึงต้นคอจึงสานตอกแบบชิดผายกว้างออกไปประมาณ 10 เซนติเมตร ปากเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ผูกเชือกที่ส่วนปากต่อไปยังรูริมปากกะลามะพร้าว ใช้เป็นฝาเปิดปิดได้ ดังนั้น ตุ้มปลาซิวจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาวรูปขวดคอสั้น เหลาไม้ไผ่เป็นแกนหนา 1 เซนติเมตร กว้าง 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เสี้ยมโคนแหลม เสียบปลายโคน ขัดลงในลายสานด้านข้างให้ปลายไม้ด้านบนพอดีเสมอปากมัดเชือกติดริมปากให้แน่นใช้สำหรับดามตัวตุ้มให้แข็งแรง
การนำไปใช้ จะใช้มากในช่วงมีน้ำมาก ราวเดือน 11 – 12 ประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน หรือวางช่วงน้ำใหม่เดือน 6 เดือน 7 ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จะวางดักในช่วงเวลาเช้าแล้วกลับมาเก็บกู้ประมาณ 3 ถึง 4 โมงเย็น การวางดัก จะดักคราวละ 1 – 3 หลัง วางดักลงในน้ำระดับไม่ต้องก้มต้องเงย ใช้มดแดงเป็นเหยื่อใส่ลงในปากตุ้ม แช่ตุ้มลงในน้ำมดแดงจะลอยน้ำให้ส่วนก้นห่างจากพื้นใต้น้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนคอจะโผล่พ้นน้ำ ผูกแกนไม้ผูกติดกับหลักไม้ที่ปักติดพื้นที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ให้ตัวตุ้มตั้งในน้ำเป็นแนวตั้ง ปล่อยทิ้งไว้ ปลาซิวอ้าวที่หากินอาหารผิวน้ำก็จะเข้าไปช่องก้นตุ้ม ซึ่งมีระดับไม่ลึกมากนักเพื่อเข้ามากินมดแดง ก็จะติดอยู่ภายใน เมื่อเวลาเข้ามาเก็บกู้ก็จะเทปลาออกทางปากข้างบน หากต้องการดักต่อก็จะเปลี่ยนเหยื่อมดแดงใหม่