คำอธิบาย
ปลาขาวเป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่น มีเกล็ดสีเงิน ตัวแบน คล้ายปลาตะเพียน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีก้างเล็ก ๆ มาก กินพืชเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึงขนาดใหญ่ ตุ้มปลาขาวจึงสามารถพบเห็นได้ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้หนองน้ำดังกล่าว มักรวบรวมกันห้อยแขวนไว้ใต้ถุน ชายคา ข้างฝาเรือน ยุ้ง ฉาง เล้าข้าว มีรูปร่างและขนาดต่างกัน ทำจากตอกไม้ไผ่เหลาบางเป็นซี่เล็กๆ ใช้ลวดดัดเป็นวงกลมทำเป็นโครงสร้าง จะสานพื้นต่างหากด้วยไม้ไผ่เป็นแผ่นกลม ๆ แล้วมัดติดด้านล่าง ใช้กะลาเป็นช่องทางเอาปลาออกที่ปากด้านบน มีรูปร่างคล้ายกรงนก บ้างสานขึ้นรูปทึบคล้ายข้องกักขังปลา บ้างขึ้นรูปที่ด้านล่างขึ้นมาพอสมควร แล้วปล่อยปลายไม้ยื่นยาว มัดเชือกรวบปลายรวมกัน ตุ้มบางหลังขึ้นรูปสวยงามแข็งแรง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม สานทึบและสานตาห่างสลับกัน ดังนั้น ตุ้มปลาขาวจึงมีรูปร่างรูปทรงแตกต่างกัน แต่มีบางส่วนที่เหมือนกัน คือพื้นใช้ไม้ไผ่จักเป็นแผ่นบางสานทึบชิดกันใช้รองตัวตุ้ม ตุ้มบางหลังมีพื้นโผล่พ้นออกจากตัวตุ้มที่ประตูทางเข้า การที่มีพื้นเรียบเป็นแผ่นเรียบเสมอกันนั้น และมีชานโผล่ล้ำออกมา จึงมีชื่อเรียกตุ้มปลาขาวว่า “ตุ้มลาน” ทำให้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งก็เป็นได้ ริมข้างด้านหน้าจะทำช่องประตูติดที่พื้น เป็นช่องสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม ใช้ผูกงาที่ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นซี่ ๆ ปลายแหลมเท่า ๆ กัน หลายซี่ ผูกเชือกมัดต่อเรียงกันที่โคนงาและกลางงาเป็นช่อง ๆ ระยะห่างเท่า ๆ กัน ให้ปลายงาประสานสลับล้ำไขว้กัน ลักษณะการพนมมือ (ปลายนิ้วสลับลงในช่องระหว่างนิ้วซ้าย ขวา หลวม ๆ ) เรียกงาไหว้ ผูกเชือกที่โคนงากับปากประตูทางเข้าโดยรอบ ปลายงาชี้เข้าด้านใน ใช้เชือกอีกเส้นผูกเข้ากลางงาซี่บนสุดต่อกับไม้ชิ้นเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งขัดไว้ เหนือปากประตูใช้บังคับให้งาให้หย่อน ตึงหรือพอดี ด้านข้างตัวตุ้มจะผูกเชือกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ต่อไปยังหลัก 2 หลัก ปลายหลักแหลมใช้สำหรับยึดตุ้มไม่ให้ล้มหรือหลุดตามกระแสน้ำ
การวางดัก จะวางดักในช่วงเวลาเช้าในช่วงน้ำหลากคือราวเดือนสิงหาคม เดือนพฤศจิกายนซึ่งจะมีปลาขาวมาก แต่ปัจจุบันความจำเป็นมีเรื่องอาหาร จึงวางดักไว้ตลอดปี เมื่อว่างเว้นจากการงาน โดยใช้ขี้เหล้าสาโท (ส่าเหล้า) คลุกแกลบหรือใช้แกลบผสมรำข้าว แต่ปัจจุบันชาวบ้านจะใช้ใบระหุ่งฉีกหยาบ ๆ ใส่ไว้ภายในตุ้ม เป็นเหยื่อล่อได้รับการยืนยันว่ามีคุณภาพดีกว่าเหยื่อแต่เดิม การวางดักจะดักในน้ำ ระดับความลึกไม่เกินคอ ผู้ดักจะต้องดำน้ำวางลงที่พื้นติดดิน หันช่องปากทางเข้าหนีกระแสน้ำไหล ใช้หลักปักยึดพื้นดินห่างจากตัวตุ้มดึงเชือกให้ตึง การวางดักจะดักคราวละหลาย ๆ หลัง ดังนั้น ผู้ดักจึงต้องกำหนดระยะความห่างหรือใช้กิ่งไม้ปักข้าง ๆ โผล่พ้นระดับน้ำเป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่ง แล้วจะมาเก็บกู้ตรวจดูในเวลาเช้า แล้วอาจวางดักต่อข้ามคืน ปลาขาวเป็นปลาที่อาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำได้นาน ต่างกับปลาดุก ปลาช่อน ดังนั้น จึงสามารถดักใต้น้ำได้ข้ามวันข้ามคืนโดยที่ปลาไม่ตาย