ตุ้มปลาดุก



คำอธิบาย
ปลาดุกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป  แพร่ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ  ตัวเล็กมีเนื้อแน่น  นิยมนำมาประกอบอาหารมากกว่าปลาดุกที่เพาะขยายพันธุ์ขายเป็นปลาเศรษฐกิจ  ปลาดุกบ้านหรือปลาดุกนามีสีเทาออกขาวหรือออกสีเหลืองอ่อนๆ  บางตัวเป็นสีชมพู  เรียก  ปลาดุกเผือก  ไม่มีเกร็ด  ผิวลื่น  มีหนวดสองข้างปากใช้สัมผัสหาอาหาร  กินอาหารเป็นสัตว์มีชีวิตและสามารถกินสัตว์ที่เน่าตายแล้วได้
 
ตุ้มปลาดุกเป็นเครื่องมือดักจับปลาดุก  ทำจากไม้ไผ่จักเป็นเส้นตอกแบน  สานคล้ายท่อสูง 1 เมตร  โดยเริ่มสานจากส่วนก้นเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยม  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 27 เซนติเมตร  แล้วสานตอกชิดให้ป่องออกเล็กน้อยขึ้นด้านบน  เมื่อได้ความสูงประมาณหนึ่งคืบ  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร  จึงใช้ตอกกลมสานไขว้กันเป็นปลอก  จากนั้น  จึงสานให้สอบแคบลง  ทำปลอกรัดเป็นช่วง ๆ  เสริมโครงสร้างให้แข็งแรง  ขณะที่สานสูงขึ้นก็จะค่อย ๆ  เสริมโครงสร้างให้แข็งแรง  เมื่อสานสูงถึงประมาณ  70 เซนติเมตร  จึงค่อย ๆ ผายปากออก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เซนติเมตร  เหลาไม้ไผ่เป็นแผ่นยาวทำขอบรองก้น  และทำปลอกรัดที่ปากให้แข็งแรง   ตัดช่องประตูรูปสี่เหลี่ยม   ริมด้านล่างติดพื้นกว้าง ยาว 5 x 12 เซนติเมตร  เหลาไม้ไผ่เป็นชิ้น  ขัดไว้ทำกรอบประตูด้านหน้า  ผูกเชือกทำงาไหว้ต่อกับไม้ขัด  ใช้ไม้ขัด  ขัดติดด้านในกรอบประตูเป็นงาทางเข้า  จากนั้นจึงทำงาครอบ  งาครอบทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นแบนหนากว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร  ดัดโค้งเป็นรูปเกือกม้านำมาเรียงต่อกันประมาณ 9 เส้น  ใช้เถาว์เครือไม้ผูกรัดให้ติดกัน  จากนั้นจึงใช้ไม้ไผ่ขนาดเดียวกันยาว 16 เซนติเมตร  มัดเรียงต่อจากที่ทำไว้แล้วข้างหนึ่งวกโค้งกลับมาอีกข้างหนึ่ง  ผูกปลายเถาว์ด้วยเครือไม้ยึดต่อกันให้แน่น  จะเห็นว่าส่วนบนเกิดเป็นช่องว่าง  เหลาไม้ผูกเชือกต่อกันทำงาไหว้  สวมปิดบนช่องว่าง  ปลายงาชี้ขึ้นด้านบน  ได้เป็นงาครอบ  นำงาครอบใส่ลงในปากตุ้มครอบงาไว้  ให้งาครอบที่เป็นไม้รูปเกือกม้าครอบ  ปากงาไหว้ด้านในมัดลวดให้แน่น  เลือกจานสังกะสีเก่าขนาดปิดพอดีปากตุ้มได้  เจาะริมขอบจานใช้เชือกผูกต่อกับปากตุ้ม  ผูกเชือกเป็นหูสอข้างปากตุ่มเหลาไม้ไผ่ขัดจานสังกะสีติดแน่นที่ปากตุ้ม
 
ตุ้มปลาดุกใช้ดักจับปลาดุกที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป  วางดักได้ทุกฤดู  ใช้เหยื่อตัวปลวกที่อาศัยอยู่ในรังแข็ง ๆ  สีน้ำตาลเข้มขุดออกได้เป็นก้อน  เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาเผาไฟ  (ชาวบ้านกล่าวว่ามีกลิ่นหอม)  กอบตักรวมทั้งตัวปลวกที่กระจัดกระจาย  นำมาใส่ไว้ในตุ้ม  แล้ววางตุ้มลงในน้ำให้ก้นตุ้มติดพื้นดิน  ลึกประมาณให้ปากตุ้มโผล่พ้นน้ำประมาณหนึ่งในสามส่วนใช้ไม้ปักยึดผูกเชือกตั้งอยู่ในน้ำได้  เมื่อปลาดุกออกหากินได้กลิ่นเหยื่อก็จะหาทางเข้าที่ปากประตู  ผ่านงาไหว้เข้ามาอยู่ในงาครอบ  แล้วขึ้นจากงาครอบเข้ามาภายในตัวตุ้มหากินปลวก  ชาวบ้านผู้ดักจะเข้ามากู้เก็บเวลาเช้า  โดยยกขึ้นจากน้ำ  ดึงไม้ขัดเปิดฝาสังกะสีออกเทปลาดุกลงข้อง  แล้วเติมเหยื่อลงเพิ่มใหม่  ใช้วางดักแบบเดิม  ชาวบ้านที่ชำนาญการใช้ตุ้มกล่าวว่า  มีปลาดุกชุมวางดักต่อข้ามคืน 2 – 3 คืน  ปลาดุกเข้าจนหมดสระบางคนกล่าวว่า  สมัยก่อนมีปลามาก  เมื่อปลาเข้าตุ้มต้องช่วยกันเอนตัวตุ้มนอน  ประคองมาที่ฝั่งแล้วค่อย ๆ กลิ้งขึ้นฝั่ง  ไม่มีโอกาสเห็นในสมัยก่อน  สมัยนี้แขวนตุ้มปลาดุกไว้ใต้ชายคาเล้าข้าว  ผูกติดฝาบ้านเท่านั้น