แงบ



คำอธิบาย
ในสารานุกรมภาษาไทย – อีสาน ให้ความหมาย  แงบ  ว่าเป็นอาการที่สัตว์ตัวเล็ก ๆ  กำลังจะตายหายใจแงบ ๆ  มีความหมายใกล้เคียงตัวกบคือสัตว์เล็ก ๆ  เท่านั้น  ทางภาคเหนือเรียก  แงบว่า  “แอ๊บ”  มีความหมายใกล้เคียงเกี่ยวข้องมากกว่าคือ  เป็นเสียงร้องกบที่ถูกงูงับกัดก่อนที่จะกินเข้าไป  ส่วนภาษาเขมร  เรียกชื่อตัวกบที่เป็นสัตว์สี่เท้าครึ่งบกครึ่งน้ำว่า  “แกบ”  ดังนั้น  ในภาษาเขมรจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกบและเครื่องมือดักกบมากที่สุด  กบมีเสียงร้องสองอย่าง  หากเป็นฤดูฝนกบจะผสมพันธุ์  หรือฟ้าครึ่มใกล้ฝนตกกบจะร้อง  โอ๊บ.....โอ๊บ  หากถูกงูกัดรัดยังไม่ทันตายกบจะร้อง แอ๊บ.....แอ๊บ  เสียงกบจึงมีความแตกต่างกันระหว่างความสุขกับความทุกข์
 
แงบเป็นเครื่องมือใช้ดักจับกบเวลากลางคืน  มีลักษณะป้อมสั้น  ปากกว้างไปถึงตรงกลางแล้วค่อยๆ  แบนลีบที่ปลายท้ายที่ก้น  ที่ก้นจะมีช่องเอากบออก  หากสร้างจินตนาการ  วางแงบลงที่พื้นเติมขาทั้งสี่และหัวจะมีลักษณะเหมือนกบหมอบ  แงบมีหลายขนาด  ทำจากตอกไม้ไผ่จักเป็นเส้นบาง ๆ ขึ้นรูปที่ปาก  สานสลับยกหนึ่งข่มหนึ่งโดยรอบ  บางช่วงเว้นห่างเพื่อมองเห็นข้างในแล้วสานต่อไปจนถึงเอว  แล้วดัดให้ลีบแบนที่ก้น  เปิดช่องก้นใช้ไม้ขัดสำหรับปิด – เปิด  ทำงาด้วยตอกแบนหันปลายงาสวมเข้าที่ในปากแงบ  ใช้เศษไม้ไผ่พันหนุนรอบนอกปากยึดงาที่ติดปากให้แน่น
 
วิธีการใช้  จะใช้แงบหลาย ๆ หลังเวลาเดียวกัน  เริ่มดักเวลาเย็นในช่วงปลายฝนเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน  เลือกแอ่งน้ำเล็ก ๆ  ในแปลงนาที่พอมีน้ำขัง  มีลูกปลา  ปลาซิว  กุ้ง  หลงติดอยู่  โกยดินให้พอวางให้ริมด้านล่างงาติดพื้นมีน้ำเข้าในตัวแงบ  ตกแต่งดินที่ปากใส่ลูกปลา  ปลาซิว  กุ้ง  ลงด้านบนเข้าอยู่ในแงบ  ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืน  เมื่อกบออกหากินจะเข้ามาบริเวณมีน้ำขัง  เห็นหรือได้ยินเสียงลูกปลาดิ้นในแงบก็จะหาทางผ่านงาเข้าติดอยู่ภายใน  ผู้ดักจะกลับมากู้เวลาเช้า  ปลดไม้กัดที่ก้นออก  บีบริมด้านข้างให้ก้นง้าง  เทกบใส่ข้อง